ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต และผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย พร้อมภาคธุรกิจประกันภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านท่าสะท้อน-ถ้ำเขาเงิน สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ชุมพร ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งนับเป็นครั้งที่สองของการลงพื้นที่ตาม “โครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 2” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ประชาชนในชุมชนต่างๆของประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดจนเกิดความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการประกันภัย รวมทั้งเกิดความเชื่อมั่นว่าระบบประกันภัยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งในด้านการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ แบบครบวงจร การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่ของสำนักงานคปภ.และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน การให้ความช่วยเหลือเเละรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยผ่าน Mobile Complaint Unit หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้าน การประกันภัยเคลื่อนที่ โดยมีการลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชาวชุมชนและรับฟังสภาพปัญหาด้านการประกันภัย รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมฐานเรียนรู้ต่างๆภายในชุมชน ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร โดยมีนายสุทธิพันธ์ สุวรรณบัณฑิต ผู้นำชุมชนบ้านท่าสะท้อน พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้คนภายในชุมชน รวมทั้งเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานเรียนรู้สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ชุมพร ถ้ำเขาเงิน ถ้ำไม้ขาว และ ถ้ำรอยควาย ฐานเรียนรู้ศูนย์ผลิต และจำหน่ายสินค้า OTOP การแปรรูปกล้วยเล็บมือนาง ตำบลท่ามะพลา ฐานเรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานสวนผักพื้นบ้าน ผักเหลียง ผักกูด สวนมังคุด และฐาน เรียนรู้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ทุเรียนกวน ทุเรียนกรอบ ตลาดหลังสวน รวมทั้งมีการถ่ายทำรายการกิจกรรมการเรียนรู้ และการเสวนาเพื่อนำไปออก รายการโทรทัศน์เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชมผ่านรายการโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล ช่องอัมรินทร์ทีวี (ช่อง 34) อีกด้วย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับชาวชุมชนบ้านท่าสะท้อนแบบครบวงจร สำนักงาน คปภ. ได้จัดเวทีเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยภายใต้หัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก สำนักงาน คปภ. อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวางแผนและพัฒนากฎหมาย สำนักงาน คปภ. และนายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีนายชนะพล มหาวงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับรูปแบบการให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้เป็นการให้ความรู้จากการถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเข้าใจถึงบทบาทของระบบประกันภัยที่เข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยง เช่น กรณีอดีตนักกีฬาเทนนิสทีมชาติมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัย แต่ในที่สุดสำนักงาน คปภ.ได้ส่งผู้บริหารสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค จากส่วนกลางเข้าไปไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวทำให้เรื่องนี้ยุติลงด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ จนเกิดวลีผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย “ประกันชีวิตอาวุโส ไม่โอเค” ซึ่ง สำนักงาน คปภ. ได้เข้าไปแก้ไขข้อพิพาท จนเป็นที่พึงพอใจของผู้เอาประกันภัยและมีการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันชีวิตอาวุโสให้มีความชัดเจนและแตกต่างไปจากกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบธรรมดาอีกด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนบ้านท่าสะท้อนในครั้งนี้ นอกจากรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยของชุมชนแห่งนี้แล้ว ยังได้รับรายงานจาก สำนักงาน คปภ. จังหวัดชุมพร ด้วยว่า จังหวัดชุมพรเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการปลูกผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมีการส่งออกจำนวนมาก และมีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรในอำเภอหลังสวนเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น ในขณะที่สภาพภูมิประเทศของอำเภอหลังสวนมีความสุ่มเสี่ยงต่อการประสบภัยทางธรรมชาติ ทั้งพายุ น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรและผลไม้ได้รับความเสียหายอยู่เนื่องๆ จึงรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอหลังสวนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าในจังหวัดชุมพรมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรนำระบบประกันภัยทั้งประเภทที่กฎหมายบังคับและประเภทสมัครใจ เช่น กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างระยะเวลาการเดินทางและทำให้เกิดการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะสายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงและค่ารักษาพยาบาล ก็จะได้รับความคุ้มครอง รวมทั้งกรมธรรม์ภาคสมัครใจ เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับผู้โดยสารแพ การประกันภัยท่องเที่ยว การประกันภัยสวนทุเรียน การประกันภัยบ้านพักอาศัย เพื่อให้กรมธรรม์ประกันภัยเหล่านี้เข้ามาบริหารความเสี่ยง และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงหากเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น อันจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความคุ้มครองด้วยระบบประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคันต้องจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 พบว่าในพื้นที่อำเภอหลังสวนมีรถยนต์ที่จดทะเบียนสะสมจำนวน 37,765 คัน มีรถยนต์ที่จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 35,602 คัน คิดเป็นร้อยละ 94.27 ของรถยนต์ที่มีการจดทะเบียนสะสม ในส่วนรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนสะสมจำนวน 24,991 คัน มีรถจักรยานยนต์ที่จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) จำนวน 23,545 คัน คิดเป็นร้อยละ 94.21 ของรถจักรยานยนต์ที่มีการจดทะเบียนสะสมดังนั้นจึงขอชื่นชมประชาชนในพื้นที่ชุมชนบ้านท่าสะท้อน อำเภอหลังสวน ที่ปฏิบัติตามกฎหมายและให้ความสำคัญต่อการทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับตัวเองและครอบครัว โดย สำนักงาน คปภ. ได้มอบโล่เกียรติคุณยกย่องและจะได้ใช้เป็นโมเดลต้นแบบเพื่อรณรงค์การทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) รถจักรยานยนต์ 100% ต่อไป