ชาวประมง เฮ ! 1 กรกฎาคม 63 กรมประมงดีเดย์…เปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 7 ต่อปี รัฐจ่ายให้ร้อยละ 3 ต่อปี ให้ชาวประมง

กรมประมง เปิดรับสมัครชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ เข้าร่วม “โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง” สามารถกู้เงินไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี (จ่ายเองร้อยละ 4 ต่อปี รัฐชดเชยให้ร้อยละ 3 ต่อปี) สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ณ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง http://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/strategy

ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำช่วยเสริมสภาพคล่องให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้กรมประมงเร่งดำเนินการเปิดโครงการดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อจะได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมง

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง มีระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี นับจากวันที่ ค.ร.ม.มีมติอนุมัติโครงการฯ โดยกรมประมงจะเปิดรับสมัครให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เข้าร่วมโครงการฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เป็นเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับพี่น้องชาวประมงให้สามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี กล่าวคือ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปีและผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งกำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้

สำหรับรูปแบบสินเชื่อแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

(1) สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าน้ำแข็ง ฯลฯ

(2) สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการไปปรับปรุงเรือ ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง โดยมีธนาคารของรัฐที่เข้าร่วม จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย

1. ธนาคาร

1.1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท สนับสนุนเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท

1.2.ธนาคารออมสิน ปล่อยวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนเรือประมงพาณิชย์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป ในวงเงินรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท

โดยชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

คุณสมบัติ

1.เป็นบุคคลธรรมดา อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย หรือ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย

2.เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือ สิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย

3.เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

4.กรณีเป็นผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

5.ไม่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการได้รับใบอนุญาตทำการประมง ตามมาตรา 39 แห่งพระราชการกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และไม่เป็นผู้ที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายวาด้วยการประมง

หลักประกันเงินกู้เงิน ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างรวมกัน ดังนี้

1.ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้หรืออาคารชุด

2.เรือประมงที่มีการจดทะเบียนเรือไทยถูกต้องตามกฎหมาย

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

4.บุคคลค้ำประกัน

5.หลักประกันอื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด

ผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ สามารถกรอกคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และยื่นความประสงค์ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามพื้นที่ที่เรือประมงลำที่ยื่นกู้ทำการประมงอยู่ พร้อมแนบหนังสือรับรองการเข้าร่วมโครงการฯ จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมประมงในพื้นที่ หรือ สมาคมประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ในกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ สามารถติดต่อขอหนังสือรับรองได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดที่ยื่นคำขอ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมประมงได้สั่งการไปยังสำนักงานประมงจังหวัดทุกแห่ง และขอความร่วมมือไปยังสมาคมประมงต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องชาวประมงได้รับทราบโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพให้เกิดความมั่นคงได้มากขึ้น รองอธิบดีฯ กล่าว

…………………………………………………………