กรมทรัพยากรธรณีนำทัพสื่อ ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม – บึงกาฬ ย้อนรอยไดโนเสาร์แหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนแหล่งแรกของไทย พร้อมสำรวจแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา

วันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2563 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่จังหวัดนครพนมและจังหวัดบึงกาฬ ศึกษาแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา และซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนแหล่งแรกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ในเส้นทาง ตามรอยตีนไดโนเสาร์ที่นครพนม ชมหินเกล็ดพญานาคถ้ำนาคา ล่องนาวาน้ำตกถ้ำพระที่ภูวัว แหวกดูหินสามวาฬ ชมปรากฏการณ์ทะเลทรายทในอดีตที่ภูทอกโดยมีนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ พร้อมด้วยนายประดิษฐ์ นูเล นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่สื่อมวลชน โอกาสนี้ นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้การต้อนรับสื่อมวลชนและลงพื้นที่ร่วมกับคณะสื่อมวลชน

แหล่งรอยตีนไดโนเสาร์ท่าอุเทน ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยคุณนเรศ สัตยรักษ์ อดีตนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี พบรอยตีนของไดโนเสาร์บนหินทรายของหมวดหินโคกกรวด อายุในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือ 100 ล้านปี จำพวกกินเนื้อขนาดเล็กหรือไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ กินพืชขนาดเล็กหรือไดโนเสาร์ปากเป็ด และจระเข้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำที่บรรดาสัตว์หลายชนิดต่างมาหากินอยู่บริเวณนี้ แหล่งซากดึกดำบรรพ์แหล่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 เป็นแหล่งแรกของประเทศไทย

พื้นที่เขตติดต่อระหว่างอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และจังหวัดบึงกาฬ มีแนวเทือกเขาหลักๆ 3 ลูก ประกอบด้วย แนวเทือกเขาภูลังกา แนวเทือกเขาภูวัว และแนวเทือกเขาภูสิงห์ – ภูทอกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 – 400 เมตร วางตัวยาวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสามภูนี้ เป็นหลักฐานจากการกัดเซาะผุพังทำลายของชั้นหินที่เกิดการโก่งตัวของโครงสร้างเป็นรูปประทุนหงาย และประทุนคว่ำ ที่เกิดจากการสะสมตัวในทะเลทรายในเมื่อครั้งอดีตกาล เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมีลักษณะที่โดดเด่นทางธรณีวิทยา ประเภทน้ำตก ถ้ำ หินรูปร่างแปลกตานั่นเอง

………………………………………………………………………………….