กรมการขนส่งทางบก เผย!! สถิติการชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเทอร์เน็ตเดือนพฤษภาคม 2563 สูงสุดในรอบปีงบประมาณ เดินหน้าสนับสนุนเจ้าของรถใช้ช่องทางชำระภาษีรถออนไลน์ สะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทาง เลือกชำระเงินผ่าน e-Banking/บัตรเครดิต/บัตรเดบิต รอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประกอบด้วย รถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ใช้บริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://eservice.dlt.go.th ส่งผลให้สถิติการชำระภาษีรถประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีสถิติสูงสุดในรอบปีงบประมาณ 2563 โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 32,164 คัน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะยังได้รับความนิยมจากประชาชนเจ้าของรถ เนื่องจากมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง อยู่ที่ไหนก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ รอรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน และสามารถเลือกชำระเงินผ่าน e-Banking บัตรเครดิต/บัตรเดบิต เคาน์เตอร์ธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การใช้บริการชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสสูงขึ้นด้วย โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 13,260 คัน รวมถึงการใช้บริการชำระภาษีรถประจำปีที่ทำการไปรษณีย์ มีจำนวนผู้ใช้บริการสูงขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,083 คัน ส่วนบริการที่สำนักงานขนส่ง และบริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) ยังคงมีประชาชนเจ้าของรถติดต่อใช้บริการตามปกติ โดยมากเป็นกลุ่มรถยนต์ที่อายุการใช้งานเกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์ที่อายุการใช้งานเกิน 5 ปี โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เคาน์เตอร์สำนักงานขนส่งทั้งสิ้น 380,501 คัน และใช้บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) ทั้งสิ้น 67,468 คัน รวมจัดเก็บภาษีรถประจำปีในเขตกรุงเทพมหานคร เดือนพฤษภาคม 2563 ได้จำนวนทั้งสิ้น 692,147,222.32 บาท
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการบริการชำระภาษีรถประจำปีที่ห้างสรรพสินค้าในวันเสาร์-อาทิตย์ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วน อยู่ในระหว่างการติดตามประเมินสถานการณ์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากต้องมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและมาตรการทางด้านสาธารณสุข แต่สำหรับต่างจังหวัดให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาความเหมาะสมร่วมกับจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หากมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการก็ให้ถือปฏิบัติตามมติของจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ การให้บริการประชาชนในทุกกระบวนงานต้องดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อแพร่กระจายของโรค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
…………………………………………………………………………
ที่มา : กรมการขนส่งทางบก