วันที่ 26 มิ.ย. 2563 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อม ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน และติดตามภารกิจของ กศน. สช. ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งเป็นประธาน เปิดปฐมนิเทศนักศึกษา กศน. ประจำภาคเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ผ่านเฟชบุ๊กไลฟ์ไปยังนักศึกษา และสถานศึกษาของ กศน.ทั่วประเทศ ณ เรือนมิชชันนารี สำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่ โดยมี นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ นายปัณณพงศ์ ท้าวอาจ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่ ผู้บริหารบุคลากร กศน. และผู้แทนนักศึกษา กศน. ให้การต้อนรับและเข้าร่วมในโอกาสดังกล่าว
ในโอกาสนี้ได้ปลูกต้น “สักทอง ต้นแรก“ ตามโครงการลูกเสือปลูกสักทองให้เมืองแพร่ 10,000 ต้น เพื่อสร้างความงอกงามและความร่มเย็นแก่ชาวแพร่ ซึ่งเป็นไม้สักทอง นับว่าป็นไม้เศรษฐกิจประจำจังหวัดแพร่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นไม้ที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า “สำหรับการปลูกไม้สักที่เป็นปฐมฤกษ์ในครั้งนี้นั้นก็ขอให้ไม้สักหยั่งรากแก้วลงดิน และให้เจริญเติบโตเหมือนการศึกษาไทยที่มีรากฐานอย่างมั่นคงสำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป” พร้อมทั้งชื่นชมการจัดกระบวนการด้านการลูกเสือของ กศน.จังหวัดแพร่ ร่วมกับ จังหวัดแพร่ และ มูลนิธิส่งเสริมการลูกเสือแห่งประเทศไทย จัดโครงการลูกเสือปลูกไม้สักทอง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และอนุรักษ์ต้นสักที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดแพร่ และให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งมีนโยบายให้มีกิจกรรมปลูกต้นสักทองดังกล่าว ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษา ในทุกพื้นที่ อาทิวัด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะทั่วพื้นที่จังหวัดแพร่
นอกจากนี้จังหวัดแพร่มีการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ผ้าทอพื้นถิ่น ตลอดจนถึง สถาปัตยกรรม บ้านโบราณ อายุกว่า 100 ปี อยู่เป็นหลายแห่ง อาทิ เรือนมิชชันนารี หรือ บ้านฝรั่ง ที่มีอายุกว่า 137 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานกศน.จังหวัดแพร่ และยังต้องการการบูรณะซ่อมแซม เพื่ออนุรักษ์ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์คู่เมืองแพร่ และชาติสืบไป โดย ดร.กนกวรรณ ได้กล่าวว่า “ หากที่ไหนมีสถาปัตยกรรมเก่า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ก็ให้แจ้งมาที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยจะจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมให้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสมบัติของชาติต่อไป และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งทุกท่านที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานทุกๆด้าน โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีส่วนสำคัญยิ่งในการนำพานโยบายต่างๆให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างดีเยี่ยม ในผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สนับสนุนส่งเสริมการจัดการศึกษาของ กศน.ให้ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาต่อเนื่อง โดยผสานศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดแพร่ ได้อย่างลงตัว “
รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “รัฐมนตรีคนนี้ไม่ทอดทิ้ง และให้ความสำคัญกับการสร้างขวัญ กำลังใจ ให้กับบุคลากร พร้อมรับฟังปัญหาเพื่อการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ พูดคำไหน คำนั้น ลงมือทำทันที และต้องทำให้สำเร็จ พร้อมที่จะทลายทุกข้อจำกัดให้หมดไป ทั้งในเรื่องของอัตราข้าราชการ ตำแหน่งครูผู้ช่วย กศน. ที่ได้มีกำหนดการสอบข้าราชการในตำแหน่งผู้บริหาร ครูผู้ช่วย และพนักงานราชการ จำนวน 1,747 อัตรา ในเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพของคน กศน.ทั่วประเทศ ประกอบด้วย รอง ผอ.กศน.จังหวัด /กรุงเทพมหานคร 22 อัตรา และ ผอ.สถานศึกษา 118 อัตรา ครูผู้ช่วย 1,272 อัตรา (พื้นที่สูง 209 อัตรา พื้นที่ทั่วไป 743 อัตรา และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา 320 อัตรา) ครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป 318 อัตรา และพนักงานราชการส่วนกลาง 17 อัตรา เพื่อสร้างความมั่นคง ยั่งยืนในชีวิตให้คน กศน.มีความก้าวหน้าต่อไป”
จากนั้น ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ.ได้เป็นประธานเปิดปฐมนิเทศนักศึกษา กศน. ประจำภาคเรียน ที่1 ปีการศึกษา 2563 โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เราต้อง “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีรู้” ด้วยการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์บนพื้นฐานของความปลอดภัยภายใต้มาตรการการป้องกันอย่างเคร่งครัด และจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามความเหมาะสมและความพร้อมของบริบทพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้การเปิดเรียนในภาคเรียนที่ 1 เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และตั้งอยู่บนความปลอดภัยสูงสุดของผู้เรียน ขอให้เราเป็นพลังสนับสนุนซึ่งกันและกันและพร้อมปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเพื่อตัวเราและผู้คนที่อยู่รอบๆตัวเรา เชื่อมั่นว่าวิกฤติในครั้งนี้จะเป็นพลังบวก ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทย แล้วเราจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แน่นอน ท้ายที่สุดนี้ ขอให้นักศึกษา กศน.ทุกคน ภาคภูมิใจในความเป็น กศน. และจงภูมิใจว่า “พวกเรามีศักดิ์ และสิทธิ์ เช่นเดียวกันกับการศึกษาในระบบ” มีความเชื่อมั่น รัก และศรัทธา ที่ได้ตัดสินใจสร้างโอกาสให้กับตนเองในวันนี้ เพราะในวันข้างหน้าพวกเราอาจจะเป็นผู้ได้ให้โอกาสสำหรับผู้อื่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น ขอให้มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ มีวินัยและพัฒนาตนเองให้บรรลุตามเป้าหมาย ให้สามารถจบการศึกษาได้ตามระดับการศึกษาที่ตนเองคาดหวังไว้ พร้อมกันนี้ ขอให้นักศึกษาทุกคนนำความรู้ทักษะ และประสบการณ์ที่จะได้รับไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และร่วมเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และประเทศไทยให้น่าอยู่และดีขึ้นต่อไป” ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
………………………………………………………………………..