กรมการแพทย์เผยแก้ปัญหายาเสพติดต้องอาศัยความร่วมมือประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ป้องกันคนหน้าใหม่เสพยา

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เผยการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ป้องกันคนหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมแนะหากพบผู้เสพต้องรีบพาไปปรึกษาแพทย์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดมีการเปลี่ยนแปลงแพร่ระบาดเข้าสู่หมู่บ้าน และชุมชน ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน เป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาอาชญกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาจากยาเสพติดหลายพื้นที่ ทั้งนี้การเสพยาและสารเสพติดมีอันตรายต่อร่างกายผู้เสพ ทำลายระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเองและอาจทำร้ายผู้อื่น ทำให้เกิดโรคสมองติดยา โดยสมองในส่วนการควบคุมความคิดจะถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเสียไป ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตประสาทอย่างถาวร

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือยังส่งผลต่อคนในครอบครัว เมื่อมีผู้เสพในบ้านจะทำให้คนในครอบครัวอยู่อย่างไม่มีความสุข อยู่อย่างหวาดกลัวจากพฤติกรรมผู้เสพ และยังส่งผลต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดปัญหาทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ปัญหาการลักทรัพย์ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติดจึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน แต่หากจะอาศัยแต่เพียงกลไกของภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจจะประสบผลสำเร็จได้ยากประชาชนในพื้นที่จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับคนในชุมชน รวมทั้งป้องกันกลุ่มคนหน้าใหม่ ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงดูแลกลุ่มผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนให้ลดลง

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เป็นหน่วยงานหลักของกรมการแพทย์ ที่มีภารกิจในการบำบัดรักษายาเสพติดทุกชนิด โดยมีการบำบัดรักษายาเสพติด 2 รูปแบบ คือ

1.) รูปแบบผู้ป่วยนอก ให้การรักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไปกลับ ใช้กระบวนการรักษาทางกาย การปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม

2.) รูปแบบผู้ป่วยในเน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ

โดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพจะให้การบำบัดรักษาอาการขาดยา รวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต จนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และจิตใจ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการแก้ไขปัญหา การเสริมสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง รู้จักหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการเสพยาเสพติด รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสังคม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เจตคติ ในการเลิกเสพยาเสพติดได้ ใช้เวลาในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูอย่างน้อย 3-4 เดือน และติดตามดูแลช่วยเหลือหลังผ่านการบำบัดประมาณ 1 ปี เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำอีก

และนอกจากนี้ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้ช่วยส่งเสริมการบำบัดรักษาโดยมีส่วนร่วมของชุมชนโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ในรูปแบบเชิงบูรณาการเพื่อให้เกิดการรักษาอย่างต่อเนื่อง แนะผู้ปกครองหรือประชาชนทั่วไป หากพบบุตรหลานหรือคนรู้จักเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ควรพูดคุยบอกกล่าวถึงผลกระทบที่จะตามมาและ รีบพาไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี หรือโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

………………………………..