นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ Mr. Atsushi Taketani ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ หรือ JETRO Bangkok และคณะผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ หรือ JCCB เข้าพบ เพื่อเยี่ยมคารวะและรายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วัทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เข้าร่วมรับฟัง ในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้กล่าวขอบคุณ JETRO Bangkok และ JCCB ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงฯ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทสมาชิก JCCB สอบถามในประเด็นต่าง ๆ เพื่อสะท้อนสภาพธุรกิจของบริษัทร่วมญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ในประเด็นปัญหา อุปสรรค การดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา COVID-19 อย่างเป็นระบบ กลับมาสู่ในสภาวะแทบจะเป็นปกติ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงฯ ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) การเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการปรับลดมาตรการลงสามารถเดินทางและขนส่งสินค้าภายในประเทศได้ สำหรับการเดินหว่างประเทศโดยการขนส่งทางอากาศ ได้ขอให้ JETRO Bangkok และ JCCB ประสานงานกับทางรัฐบาลญี่ปุ่นในการตรวจหาเชื้อผู้โดยสารที่จะเดินทางมายังประเทศไทย สำหรับภาคธุรกิจประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการเดินทางมาลงทุนหรือบริหารงานภายในประเทศสามารถเดินทางมาได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด สำหรับการขนส่งทางน้ำในการเปลี่ยนบุคลากรของญี่ปุ่นที่จะขึ้นเรือ สามารถดำเนินการได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเช่นกัน 2) การพัฒนาสาธารณูปโภคเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมในหลายโครงการ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเริ่มส่งมอบพื้นที่แล้ว รวมทั้งการลงนามโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อรองราคา อีกทั้งโครงการการขยายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อไปยังอู่ตะเภา ซึ่งจะสามารถดำเนินการเพื่อรองรับการบริการโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ได้ทันในปี 2568 และ 3) การศึกษาเขตเศรษฐกิจเพิ่มเติม 4 เขต (ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้) ซึ่งขณะนี้ในภาคใต้ได้มีการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ฝั่งอ่าวไทย เชื่อมต่อโดยรถไฟทางคู่ สามารถประหยัดเวลาในการขนส่งได้ นอกจากนี้ ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อก่อสร้างระบบโลจิสติกส์ทางรางเป็นแนวเดียวกับมอเตอร์เวย์ เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ JETRO Bangkok และ JCCB ได้รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะรายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้