นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้สถานศึกษาเปิดภาคการศึกษา 2563 ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปนั้น โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคการศึกษา กรมการขนส่งทางบก จึงกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับรถรับส่งนักเรียน เพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้รถรับส่งนักเรียนปฏิบัติตามตลอดภาคการศึกษา ดังนี้ มาตรการคัดกรอง พนักงานขับรถรับส่งนักเรียน ผู้ควบคุมนักเรียน จะต้องผ่านการคัดกรอง และตรวจวัดอุณหภูมิ ก่อนการขับรถรับส่งนักเรียน หากอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด รวมถึงจัดให้มีการคัดกรองและตรวจวัดอุณหภูมินักเรียนก่อนใช้บริการด้วยเช่นกันและสามารถปฏิเสธการให้บริการในกรณีที่พบว่านักเรียนมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ทั้งพนักงานขับรถ ผู้ควบคุมนักเรียน และนักเรียนที่ใช้บริการ การล้างมือ จัดให้มีแอลกอฮอล์ชนิดเจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประจำรถ การทำความสะอาด ให้ทำความสะอาดรถรับส่งนักเรียนก่อนและหลังการให้บริการแต่ละรอบ เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อถ่ายเทระบายอากาศภายในตัวรถ และทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวจับ ที่เปิดประตู เบาะนั่ง ที่วางแขน เป็นต้น ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลการใช้บริการแต่ละรอบของนักเรียน เพื่อความรวดเร็วในการสืบสวนโรคของแพทย์หากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากมาตรการทางด้านสาธารณสุขแล้ว กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดตรวจสอบรถรับส่งนักเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กำหนดด้วย โดยได้กำชับให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบความปลอดภัยและการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดอย่างเข้มงวดต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษา ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถรับส่งนักเรียนที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งในลักษณะรถสองแถวและรถตู้ กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และนำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น ภายในรถต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น ห้ามดัดแปลงสภาพรถ ห้ามเพิ่มเบาะที่นั่งหรือการต่อเติมกระบะท้ายเพื่อให้รับนักเรียนได้มากเกินจำนวนบรรทุกที่ปลอดภัย และต้องคำนึงถึงมาตรการทางด้านสาธารณสุขด้วย อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด
———————————-