เลขาธิการ คปภ. มอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงสำนักงาน คปภ. ปลุกพลังให้ทำงานเชิงรุก ลดและขจัดจุดอ่อน พลิกวิกฤตในยุค Technology Disruption ให้เป็นโอกาส เพิ่มความท้าทายด้วยการยกระดับองค์กรและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านประกันภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการสร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ สำนักงาน คปภ. หลักสูตรการทบทวนแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. สำหรับผู้บริหารระดับสูง เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมพระตำหนัก อาคารบี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ พระตำหนัก จังหวัดชลบุรี
การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน คปภ. เป็นการระดมความคิดเห็นเริ่มจากระดับ Bottom up ไปสู่ระดับ Top Down ได้ทำให้ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. ทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนบริหารความเสี่ยงของสำนักงาน คปภ. ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในยุค Thailand 4.0 เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 โดยครั้งแรก พนักงานสำนักงาน คปภ. ภาค 1-5 เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 ครั้งที่สอง พนักงานสำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง เมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคม 2561 ครั้งที่สาม พนักงานสำนักงาน คปภ. ภาค 6-9 เมื่อวันที่ 16-17 สิงหาคม 2561
สำหรับการอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2561 สำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยวันที่ 19 สิงหาคม 2561 เลขาธิการ คปภ. ได้มอบนโยบายว่า สำนักงาน คปภ. กำหนดให้ปี 2562 “เป็นปีแห่งการส่งเสริมการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยอย่างครบถ้วน รวดเร็วและเป็นธรรม และยังคงต่อยอดการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2561 ที่มุ่งเน้นการกำกับตรวจสอบธุรกิจประกันภัย ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพองค์กรให้มีบุคลากรที่มีศักยภาพ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน รวมถึงการให้บริการประชาชน” ซึ่งผู้บริหารระดับสูงได้ร่วมกันประเมินสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. การนำเสนอหลักการและสรุปผลการระดมความเห็นของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การทบทวนประเด็น SWOT การทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และประเด็นยุทธศาสตร์ ภายใต้กรอบทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการดำเนินงานสำนักงาน คปภ. สำหรับสรุปผลการวิเคราะห์ประเด็น SWOT ทั้ง 4 ด้าน พบว่าตำแหน่งยุทธศาสตร์ของสำนักงาน คปภ. ที่ควรมีการปรับตำแหน่งให้เป็น “เชิงรุก” โดยต้องลดและขจัดจุดอ่อน พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และการใช้จุดแข็งที่มีอยู่ด้วยการเพิ่มความท้าทายโดยใช้กลยุทธ์ “2ล2ส” คือ “ลด เลิก สร้าง เสริม” เพื่อให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน
จากนั้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ผู้บริหารระดับสูงได้ร่วมกันทบทวนสาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 5 ปี และระดมความคิดเห็นพร้อมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ประจำปี 2562 ทั้งนี้ ผลการจัดทำ Balance Scorecard แสดงความเชื่อมโยง 4 มิติ คือ มิติประสิทธิผล มิติคุณภาพบริการ มิติประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และมิติพัฒนาองค์กร ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. โดยแบ่งกลุ่มเพื่อเขียนโครงการในยุทธศาสตร์ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ด้านกำกับ ได้นำเสนอโครงการที่สำคัญคือ การเพิ่มศักยภาพและการแข่งขันด้านการประกันภัยต่อ
กลุ่มที่ 2 ด้านกฎหมาย คดีและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ได้เสนอโครงการที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนและการติดตามเรื่องร้องเรียนออนไลน์ การพัฒนา application ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยแก่ผู้ใช้บริการ และการพัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนและติดตามเรื่องร้องเรียน
กลุ่มที่ 3 ด้านตรวจสอบ ได้เสนอโครงการที่สำคัญคือ การผ่อนคลายการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัย การพัฒนามาตรฐาน GRC และการกำกับดูแลด้วยตนเอง การประเมินความพร้อมเพื่อจัดทำแนวทางการบังคับใช้ IFRS17 เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อเลขาธิการ ได้เน้นโครงการการยกระดับสำนักงาน คปภ. สู่องค์กรที่ทันสมัย (Smart OIC) อาทิ การยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจประกันภัย และไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของประชาชน ผ่านโครงการ Regulatory Guillotine การพัฒนาChat Bot คปภ. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้บทบาทหน้าที่และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยแก่ประชาชน การพัฒนาศักยภาพและทักษะบุคลากรด้านเทคโนโลยี (Digital Literacy) และการสร้างองค์กรยืดหยุ่นและส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานอย่างบูรณาการ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการเชื่อมต่อ data analysis ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ควบคู่กับการสร้างระบบการวิเคราะห์โดยการนำ AI มาใช้ ผ่านโครงการพัฒนา app เพื่อการตรวจสอบพฤติกรรมการขายประกันภัย และโครงการ smart card สำหรับตัวแทนนายหน้า
การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ฯ มีรองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์ และคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและแนวคิดด้านกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม Workshop ทั้งนี้ รศ.ดร.ดำรงค์ฯ ได้ให้ข้อแนะนำต่อสำนักงาน คปภ. ว่าต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย และใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของชีวิต หากทำได้ก็จะสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในข้อ “ภูมิคุ้มกัน” หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากสำนักงาน คปภ. สร้างภูมิคุ้มกันโดยนำหลักการประกันภัยเข้าไปบรรจุในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาได้จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาเรื่องการบริหารทางการเงินและการบริหารความเสี่ยงในชีวิต
ผลสรุปที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการสร้างความเข้าใจด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ สำนักงาน คปภ. สำหรับผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน สำนักงาน คปภ. และไปปรับปรุงแผนงาน/โครงการ ปี 2562 ที่ได้รับจากด้านและสายงานให้เกิดประสิทธิภาพ โดยจะเป็นข้อมูลจัดทำร่างยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. สำหรับปี 2562 และนำผลที่ได้เสนอต่อที่ประชุม คปภ. ในเดือนตุลาคม 2561 ต่อไป