ประเด็นคมชัด-เข้าใจปัญหาการศึกษา-หาจุดแข็งสร้างเครื่องมือขจัดปัญหา” ชู 30 ทีมเข้ารอบสุดท้าย คือ ผู้ชนะ เปี่ยมความมุ่งมั่น ต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย กสศ.พร้อมหนุนหารูปแบบทำงานร่วมกัน ชวนทุกภาคส่วนแสดงพลังร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ บริษัท ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ จำกัด ประกาศผลการแข่งขัน “Education Disruption Hackathon 2” ภายใต้โครงการ StormBreaker Accelerator เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ เข้าแข่งขันเสนอความคิดในการพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีทีมผู้ที่สมัครผ่านคุณสมบัติเข้าสู่รอบ Final Pitching นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 30 ทีม แบ่งเป็น 2 แทร็ก ได้แก่ Social Impact Track เน้นความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างผลกระทบ (Impact) เพื่อช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้จริงในวงกว้าง มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา จำนวน 20 ทีม และ Scalable EdTech Track สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากทำ EdTech Startup ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยี จำนวน 10 ทีม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในฐานะผู้ให้การสนับสนุน Startup สาย Social Impact ว่า จากที่ได้รับฟังการนำเสนอของทีมในกลุ่ม Social Impact Track สิ่งที่ได้เห็นจากคนรุ่นใหม่ คือ พลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น และการคิดถึงผู้อื่นด้วยความเข้าใจและเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตนเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เป็นความหวังของสังคมไทย ที่จะสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ใหญ่ต้องเริ่มฟังคนกลุ่มนี้ว่าสามารถช่วยเหลือให้เขาทำงานที่ตั้งใจได้อย่างไร ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษาแบบ All for Education ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาด้วยกัน ซึ่งหากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม มาช่วยสนับสนุนพลังคนรุ่นใหม่ก็จะทำให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตนจึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย ก้าวออกมาทำงานร่วมกัน เพราะหากสามารถสร้างความเสมอภาคการศึกษาให้เกิดขึ้นได้ ทุกคนในสังคมก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊คของ กสศ. ได้อย่างต่อเนื่อง
“สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ มีจุดเด่นในเรื่องความคมชัดของประเด็นที่จะเข้าไปแก้ปัญหา มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง และรู้ว่าตนเองมีจุดแข็งอะไร ที่สามารถนำเอาประสบการณ์และจุดแข็งที่มีมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งจุดแข็งของทีมจะเป็นแกนของธุรกิจที่สามารถทำให้ดำเนินการต่อไปได้ อาจจะไม่ใช่ทีมที่ทำได้เยอะ หรือทำได้หลายอย่าง แต่เป็นทีมที่มีความชัดเจนในตัวเอง ตอบได้ว่าปัญหาคืออะไร มีแผนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน โดยที่ตัวเขาเองไม่จำเป็นต้องอยู่กับสิ่งนั้นตลอดไป แต่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ด้วยชุมชนและสังคมเป็นเจ้าของ ครั้งนี้ถือว่าทุกทีมประสบความสำเร็จ เพราะได้นำเสนอสิ่งที่ได้คิดเพื่อพัฒนาการศึกษาไว้ และ กสศ.จะมีรูปแบบการทำงานร่วมกันกับทีมเหล่านี้ต่อไปในอนาคต แม้ไม่มีชื่อได้รับรางวัลก็ตาม” ดร.ไกรยส กล่าว
ด้าน นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Technology Venture โรงเรียนสอนนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ กล่าวว่า ตนได้รับพลังจากทีมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 30 ทีมอย่างมาก เพราะทุกทีมล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ลงไปลุยกับปัญหาจนเข้าใจถึงแก่น ต้องการแก้ปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาให้เกิดขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ก่อนการนำเสนอในรอบสุดท้าย หลายทีมทำงานหนัก มีการลงพื้นที่ นำข้อมูลมาขอคำแนะนำ และนำไปปรับแก้โครงการอย่างจริงจัง หรือแม้แต่นำเสนอรอบสุดท้ายแล้วยังทำงานกันต่อเนื่อง โดยไม่นำเรื่องรางวัลมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ บางทีมแม้ผู้สมัครอายุยังน้อย แต่ก็มีศักยภาพและความสามารถสูงมาก จนตนอยากให้ฉายาเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนว่า “เด็กปีศาจ” เพราะสามารถคิดสร้างสรรค์ หาทางออกของปัญหาได้อย่างคาดไม่ถึง
นอกจากนี้ทุกทีมต่างมีความเห็นใจเข้าใจปัญหาของผู้อื่น กระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาการศึกษาของไทยนั้นมีหลายด้าน กลุ่มเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เสมือนเป็นไม้คบไฟที่จะช่วยกันส่องสว่างให้ปัญหาเหล่านั้นลดน้อยหรือหมดไปในอนาคต ดังนั้น ผลการแข่งขันในครั้งนี้ ไม่เพียง 30 ทีมที่เป็นผู้ชนะ แต่ประเทศไทยก็ชนะด้วยเช่นกัน
“ผมอยากเชิญชวนให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน น้อง ๆ รุ่นใหม่ ติดตามเพจของ Disrupt และ กสศ. เพื่อเข้ามาร่วมกิจกรรมหรือโครงการด้านการศึกษาด้วยกัน เพราะที่นี่เป็นชุมชนที่อบอุ่น แหล่งรวมพันธมิตรที่ทุกคนต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา พร้อมให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกิดเป็นผลสำเร็จ โดยทุกคนไม่ได้วางเป้าหมายไว้ที่ตัวเงิน แต่คิดถึงการร่วมกันคนละไม้คนละมือสร้างประโยชน์ต่อสังคม และเป็นโอกาสดีที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในอนาคต ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะได้กลับไปคือความสุขที่เงินก็ไม่สามารถซื้อได้อย่างแน่นอน” นายเรืองโรจน์ กล่าว
สำหรับ 30 ทีมผ่านการคัดเลือกรอบแรกจาก 147 ทีม เข้ารับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และ Startup อย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.ก่อนการนำเสนอในรอบ Final Pitching ในวันที่ 30 พ.ค. ผลการแข่งขันในกลุ่ม Social Impact Track ทีมที่ได้รับรางวัล Most Impactful Award ได้แก่ Love to Read ทีมที่จะมาสร้างชุมชนให้รักการอ่านเพื่อเด็กอายุ 0-3 ปี Most Empathetic Award ได้แก่ Life Education แพลตฟอร์ม “เปิดใจ” ที่จะมาช่วยให้ครูและครอบครัวเข้าถึงหัวใจวัยรุ่น เห็นคุณค่าด้านอื่น ๆ ในตัวเยาวชนนอกจากผลการเรียน เพื่อปิดประตูความเสี่ยงการก้าวพลาดของเยาวชน Equality Award ได้แก่ Edverest ทีมที่จะมาเปิดแพลตฟอร์มเชื่อมโอกาสการเข้าถึงทุนการศึกษาได้โดยง่ายและตรงกับความต้องการของผู้เรียน EEF Special Award ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษ ขวัญใจ กสศ. ได้แก่ Edudee โครงการอาสาสมัครสอนเยาวชนนอกระบบการศึกษาในที่อาศัยอยู่ในไซต์ก่อสร้าง และ Dynamic School โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนชนบทห่างไกล เพื่อสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด และรางวัล Judges Special Award ได้แก่ ทีม Abi by BASE Playhouse แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้เยาวชนและคุณครูอาชีวศึกษาประเมินทักษะ soft skills ที่จำเป็นได้ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจตนเองและพัฒนาได้ตรงจุด และได้รับการรับรองที่ช่วยเปิดโอกาสในการทำงานให้กับพวกเขา และ ทีมวิชานอกเส้น ที่มีไอเดียสร้างพื้นที่แสดงศักยภาพให้กับเยาวชนที่มีความสามารถนอกเหนือจากความรู้ทางด้านวิชาการ แต่ยังขาดโอกาสในการแบ่งปันและต่อยอดกลุ่ม Scalable Edtech Track ทีมที่ได้รับรางวัล Most Innovative Award ได้แก่ ทีม Kid Space แพลตฟอร์ม และเครื่องมือ IoT (Internet of Things) ที่จะรวบรวมเกมสนุก ๆ ให้ผู้ปกครองและเด็กได้สัมผัสประสบการณ์เรียนและเล่นไปพร้อมกัน รางวัล Highest Growth Potential Award ได้แก่ ทีม Quizmo แพลตฟอร์มประเมินทักษะที่จำเป็นในการสมัครงาน และแนะนำเส้นทาง Reskill ที่จะมา disrupt ตลาดการจ้างงาน รางวัล VC’s Most Promising Award ได้แก่ ทีม Tockto VR แอพพลิเคชั่นเรียนภาษาผ่านการท่องเที่ยวในโลกเสมือนจริงบนมือถือ และรางวัล Most Improved Award ได้แก่ ทีม Sukjai แอพพลิเคชั่น ฝึกวินัยทางการเงินส่วนบุคคลผ่านเกมและการเรียนรู้แบบ Interactive โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินรางวัล ทีมละ 10,000 บาท พร้อมโอกาสในการรับเงินทุนสนับสนุนจาก กสศ. เพื่อพัฒนาศักยภาพและต่อยอดในโครงการบ่มเพาะของ StormBreaker Accelerator ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับทีมที่ไม่ได้รับรางวัล แต่มีศักยภาพในการนำไปปฏิบัติงานต่อ และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกขั้นพื้นฐาน จะได้รับสิทธิในการพิจารณาขอรับทุนจาก กสศ.และเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะเพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมด้วยเช่นกัน
………………………………………………………………………………………………………..