กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดสถานการณ์ภัย รวม 40 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 30 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 10 จังหวัด แยกเป็น สถานการณ์ภัยจากพายุโซนร้อน “เบบินคา” 5 จังหวัด ได้แก่ น่าน พะเยา เชียงราย เพชรบูรณ์ และหนองคายสถานการณ์ภัยจากพายุโซนร้อน “ เซินติญ” 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม อุบลราชธานี บึงกาฬ กาฬสินธุ์ และเพชรบุรี ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มใน 8 จังหวัด ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ และหนองคาย รวม 46 อำเภอ 172 ตำบล 680 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,028 ครัวเรือน 40,101 คน ผู้เสียชีวิต 4 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 3 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 5 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 114 ตำบล 473 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,919 ครัวเรือน 17,219 คน ได้แก่ น่าน ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองน่าน อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา รวม 20 ตำบล 62 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,479 ครัวเรือน 8,232 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำน่านลดลง พะเยา น้ำไหลหลากและ เกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ อำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ รวม 25 ตำบล 154 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,680 ครัวเรือน 6,970 คน ผู้เสียชีวิต 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง เชียงราย น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ลาว อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเมืองเชียงราย รวม 46 ตำบล 194 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 686 ครัวเรือน 1,646 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง เพชรบูรณ์ น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอำเภอชนแดน อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย หนองคาย น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม อำเภอรัตนวาปี อำเภอโพนพิสัย รวม 19 ตำบล 56 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 74 ครัวเรือน 280 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เซินติญ” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม –21 สิงหาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 32 จังหวัด รวม 109 อำเภอ 405 ตำบล 2,350 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51,161 ครัวเรือน 149,831 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 5 จังหวัด รวม 24 อำเภอ 137 ตำบล 1,041 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,493 ครัวเรือน 58,005 คน ได้แก่ นครพนม น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอปลาปาก อำเภอท่าอุเทน อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอวังยาง อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า และอำเภอนาทม ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,140 ครัวเรือน 43,995 คน อุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเขื่องใน รวม 37 ตำบล 208 หมู่บ้าน ประชาชนรับผลกระทบ 512 ครัวเรือน 1,945 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลง บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอปากคาด และอำเภอศรีวิไล รวม 23 ตำบล 126 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,604 ครัวเรือน 8,736 คน ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย อำเภอดอนจาน และอำเภอร่องคำ รวม 17 ตำบล 71 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 833 ครัวเรือน 1,588 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง และเพชรบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง และอำเภอบ้านลาด ประชาชนได้รับผลกระทบ 404 ครัวเรือน 1,741 คน ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป