สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร แนะว่า บัวบก Centella asiatica (L.) มีชื่อสามัญที่เรียกทั่วไปว่า Gotu kola หรือบางที่เรียก Tiger Grass ที่ได้ชื่อนี้เพราะเวลาเสือเป็นแผล มันจะชอบกลิ้งตัวคลุกกับใบบัวบกเพื่อรักษาบาดแผล
บัวบก ถูกใช้เป็นยารักษาผิวหนังของชาวเอเชียมาหลายพันปี โดยมีคุณสมบัติโดเด่นด้านการสมานแผล ผ่านหลายกลไก เช่น ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นและแข็งแรงกระตุ้นการสร้างองค์ประกอบในผิวอย่าง collagen, glycosaminoglycan, hyaluronic acid กลไกดังกล่าว มีผลทำให้บัวบกช่วยลดเลือนริ้วรอยได้ด้วย นอกจากนี้บัวบกยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดรอยแตกลาย ฟื้นฟูผิวเสีย โดยเฉพาะผิวคล้ำเสียจากแสงแดด
สารที่พบในบัวบก เป็นสารในกลุ่ม Triterpene compounds: asiatic acid, madecassic acid, asiaticoside , madecassoside นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆ เช่น volatile oils (0.1%), flavonoids, tannins, phytosterols, amino acids[1]
มีการศึกษาวิจัย ผลของใบบัวบกและเปลือกมังคุดต่อกระบวนการหายของแผลในหูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า หนูกลุ่มที่รักษาด้วยบัวบกและเปลือกมัคุด มีการสร้างส่วนประกอบภายในเซลล์ให้สมบูรณ์ได้เร็วกว่า และอัตราการหดตัวของแผลมีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รักษาด้วยสมุนไพรดังกล่าว[2]
อีกงานวิจัย ศึกษาสารสกัดบัวบกชนิดรับประทาน ที่มีสารออกฤทธิ์ของบัวบก 50 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล หลังอาหาร 3 เวลา เพื่อดูผลต่อการหายของแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน และผลข้างเคียง จากการศึกษาพบว่ามีการหายของแผลเร็วขึ้นในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดบัวบก และก่อให้เกิดแผลเป็นชนิดนูนน้อยลง โดยไม่พบผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์[3]
จากข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ที่สามารถเลือกใช้สมุนไพร บัวบก ในผู้ป่วยที่มีปัญหาแผลเบาหวาน ในรูปแบบของการกิน เช่นรูปแบบผักสดในมื้ออาหาร น้ำ หรือแคปซูลบัวบก
ขนาดรับประทาน
1.ชนิดชง ครั้งละ 2-4 กรัม ชงน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
2.ชนิดแคปซูล ครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร (กรณีรักษาแผลเบาหวานใช้ครั้งละ 2 แคปซูล หลังอาหาร 3 เวลา)
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้สมุนไพรวงศ์ Apiaceae (Umbelliferae)
ข้อควรระวัง
1.ไม่แนะนำใช้ในผู้ที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก
2.เลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
3.ยามีฤทธิ์ขับปัสสาวะ
4.มีฤทธิ์เย็น การใช้ต่อเนื่องกันในบางรายอาจำให้มีอาการหนาว มือเท้าชา ตะคริว หากมีอาการควรหยุดรับประทาน
……………………………………………………………..
แหล่งอ้างอิง
1.Bylka W, et al. Centella asiatica in cosmetology. Postepy Dermatol Alergol. 2013 Feb; 30(1): 46–49.
2.จิรัฎฐ์ งันลาโสม และคณะ. ผลของใบบัวบก และเปลือกมังคุดต่อกระบวนการหายของแผลในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน. ศรีนครินทร์เวชสาร 2551; 23(4): 402-407
3.Paocharoen V. The efficacy and side effects of oral Centella asiatica extract for wound healing promotion in diabetic wound patients. J Med Assoc Thai Vol. 93 Suppl. 7 2010.