ชป.ย้ำเกษตรกรในเขตชลประทานเพาะปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝน เน้นเก็บกักน้ำในอ่างฯให้มากที่สุด

กรมชลประทาน เตือนทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด คาดปลายมิ.ย.-กลางก.ค.ฝนทิ้งช่วง หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนปลายมิถุนายน – กลางกรกฎาคมนี้ จะมีปริมาณฝนตกน้อยหรือเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ประกอบกับน้ำในอ่างฯมีไม่มากนัก เน้นใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าวันที่ 23 – 24 มิ.ย. 63 บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 25 – 27 มิ.ย. 63  จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม 2563

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(22 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,260 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,611 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,689 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 993 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (22 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,076 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,408 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิ.ย. 63)  ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 4.43 ล้านไร่ หรือร้อยละ 26 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 1.88 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในภาวะที่เขื่อนต่างๆมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เน้นส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ด้านการเกษตรจะใช้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำและลำน้ำสาขาให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรณีที่เกษตรกรมีการทำนาปีไปแล้ว จะบริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำและลำคลองธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ด้วยการทดน้ำ/อัดน้ำ หรือสูบน้ำช่วยเหลือ ส่วนกรณีที่เกษตรกรยังไม่ได้ทำนาปี ขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีในช่วงหลังกลางเดือน ก.ค. 63 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกและมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่ จึงค่อยทำการเพาะปลูก โดยกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน

………………………………………………………………………………….

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์