ป.ป.ส. จับมือ UNODC กำหนดแนวทางเพิ่มบทบาทและศักยภาพของสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรม (Border Liaison Office : BLO) พร้อมรับมอบอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ให้กับผู้ปฏิบัติงานตามแนวชายแดน
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะหารือกับ Mr. Jeremy Douglas ผู้แทนสํานักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC ) ณ ที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มบทบาทและศักยภาพของสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรม ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ (Transnational Crime) ทั้งด้านยาเสพติดและอื่น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า UNODC ได้ริเริ่มในการจัดตั้งสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรมมาตั้งแต่ปี 2544 โดยเริ่มต้นมี 9 แห่ง คือ ไทย-เมียนมา ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ไทย-สปป. ลาว ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี และ ไทย-กัมพูชา อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งต่อมาจากสถานการณ์ได้มีการขยายจนถึงปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้น 28 แห่ง ใน 27 อำเภอ 18 จังหวัด โดยส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ ไทย-เมียนมา ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ไทย-สปป. ลาว ที่ อ.โขงเจียม อ.เขมราฐ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี อ.ท่าลี่ จ.เลย อ.เมืองหนองคาย อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ อ.เมืองมุกดาหาร อ.หว้านใหญ่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.ภูซาง จ.พะเยา และไทย-กัมพูชา ที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี โดยแยกเป็นสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรม ไทย-เมียนมา 4 แห่ง ไทย-สปป.ลาว 16 แห่ง และ ไทย-กัมพูชา 8 แห่ง
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่าการประสานงานตามแนวชายแดนมีความสำคัญเพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์ในแง่ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศแล้ว ยังทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกลไกการประสานระดับพื้นที่จึงมีความสำคัญ ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ใช้สำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรมเป็นช่องทางในการประสานงานทั้งในด้านการข่าวและการปราบปรามยาเสพติดบริเวณชายแดน ดังนั้นการเพิ่มบทบาทและศักยภาพให้กับสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งการหารือกับ UNODC ครั้งนี้เพื่อทบทวนบทบาทหน้าที่ กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากร กระบวนการปฏิบัติงาน ของสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรม โดย UNODC พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุกรูปแบบ และทั้งสองหน่วยงานจะมีการประชุมหารือกันในรายละเอียดต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มว่าการพบกันในครั้งนี้ทาง UNODC ได้ใช้โอกาสในการมอบอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPEs) ประกอบด้วย เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ 51 อัน ชุดป้องกันภัยทางการแพทย์ 136 ชุด แว่นตานิรภัย 340 อัน ถุงมือการแพทย์ 6,800 คู่ และหน้ากากอนามัย 17,000 ชิ้น เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ส. นำไปมอบให้กับสำนักงานประสานงานชายแดนด้านยาเสพติดและอาชญากรรมใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในตอนท้ายว่าสำนักงาน ป.ป.ส. กำลังดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการประชุม High Level Regional Conference: Synchronizing Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025 เมื่อเดือนเมษายน 2562 ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน โดยเสนอแนวทางการดำเนินที่เป็นรูปธรรม 3 ประการคือ 1. การแลกเปลี่ยนข่าวสารและข่าวกรองระหว่าง UNODC และสมาชิกอาเซียน 2. ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและความท้าทายข้ามพรมแดนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และ 3. การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่ต้นเหตุ โดยอาจนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลได้ดำเนินทุกวิถีทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อให้เด็กและเยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดและให้สังคมมีความปกติสุข