กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย 58 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 19 – 21 ส.ค. 61 โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสรรพกำลังและเครื่องจักรกลสาธารณภัย รวมถึงจัดชุดเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดชุดเคลื่อนที่เร็วประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที พร้อมแจ้งเตือนประชาชนติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ช่วงที่ผ่านมาทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยศูนย์เฉพาะกิจติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแจ้งเรื่องการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ วันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2561 และประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “เบบินคา” ได้เคลื่อนออกจากบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเข้าปกคลุมประเทศเมียนมา ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง รวมถึงกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยง
กอปภ.ก.จึงได้สั่งการให้จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่มเป็นพิเศษ 23 จังหวัด ได้แก่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
พื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 34 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 13 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่เดิม และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์มาก ซึ่งต้องทำการระบายน้ำเพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้กำชับชาวเรือ ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ เดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง รวมถึงติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง ตลอดจนหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป