กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผย นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคีแรงงาน ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่างมาตรฐานแรงงานเฉพาะด้าน เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องมาตรฐานสากล และสามารถปฏิบัติได้จริง
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2546 และได้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสถานการณ์ในปี 2553 ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการนำไปบริหารจัดการด้านแรงงานเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว 1,452 แห่ง แต่การที่จะได้รับมาตรฐานแรงงานไทยจะต้องมีระบบจัดการและการคุ้มครองสภาพการจ้างและสภาพการทำงานของลูกจ้าง ประกอบด้วย ด้านคุ้มครองแรงงาน ด้านแรงงานสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย และด้านสวัสดิการแรงงาน ซึ่งอาจทำให้สถานประกอบกิจการที่มีความพร้อมเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยได้ ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับสถานประกอบกิจการจึงได้จัดทำมาตรฐานเฉพาะด้านขึ้นเพื่อให้สถานประกอบกิจการได้มีการพัฒนาระบบบริหารในแต่ละด้านก่อนและเป็นแนวทางนำไปสู่การรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท 8001-2553) ในอนาคต
อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้คณะทำงานได้จัดทำร่างมาตรฐานดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว กสร.จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างมาตรฐานเฉพาะด้าน (ด้านคุ้มครองแรงงาน ด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน และด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน) ขึ้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ รัชดา กรุงเทพฯ โดยมีนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง นักวิชาการภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 120 คน การประชุม จัดขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานเฉพาะด้าน ทั้งนี้ กสร.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมไปปรับปรุงร่างมาตรฐานแรงงานให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทุกภาคส่วนยอมรับและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในสถานประกอบกิจการต่อไป