ก.แรงงาน เปิดประชุม รับฟังข้อเสนอแนะ ผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ ร่วมเตรียมแผนส่งออกแรงงานทันทีหลังโควิด-19

วันที่ 20 มิถุนายน 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิด “การประชุมเพื่อเตรียมแผนการจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ กว่า 80 บริษัท เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศได้ทันที เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลายลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน ณ ห้องอบรมคนหางานก่อนไปทำงานต่างประเทศ ชั้น 11 อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งปิดตัวลง หรือหยุดกิจการชั่วคราว ทำให้แรงงานและประชาชนทั่วไป ต้องหยุดงานขาดรายได้ ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศและมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น ประกอบกับ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ร่วมกับภาคเอกชน เร่งเตรียมความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ได้งานทำอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงทักษะด้านภาษา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แพร่ระบาดในประเทศไทยและในต่างประเทศที่เป็นตลาดแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และในยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดส่งแรงงานไทย ในภาพรวมทำให้เป้าหมายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อม ให้สามารถจัดส่งแรงงานไทยที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ทันที หากรัฐบาลผ่อนคลายการบังคับใช้ มาตรการเดินทางระหว่างประเทศให้สามารถเดินทางได้ตามปกติ จึงจัดได้การประชุมฯ นี้ขึ้น เพื่อให้ผู้รับอนุญาตจัดหางานฯ กว่า 80 บริษัท ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ให้ภาครัฐสามารถเตรียมแผนการจัดส่งแรงงานได้ทันทีเมื่อประเทศปลายทางเปิดรับแรงงานไทยตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการจัดส่งแรงงานไทย ไปทำงานต่างประเทศช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 (มิถุนายน-กันยายน 2563) ตั้งเป้าหมาย 52,253 คน ตลาดแรงงานที่คาดว่าจะจัดส่ง เป็นแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น ไต้หวัน 20,120 คน ญี่ปุ่น 3,818 คน สาธารณรัฐเกาหลี 6,421 คน มาลาเซีย 2,448 คน สิงคโปร์ 2,934 คน ภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ อิสราเอล 2,840 คน

ในส่วนของตัวเลขแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในต่างประเทศนั้น จากข้อมูลของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2563  มีจำนวน 128,102 คน แบ่งเป็น กลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้ 96,486 คน พบมากที่สุดคือ ไต้หวัน 61,635 คน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 25,514 คน  มากที่สุดคือ อิสราเอล 22,844 คน กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา และอื่นๆ 5,626 คน มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา 724 คน และกลุ่มประเทศแอฟริกา 476 คน มากที่สุดคือ แอฟริกาใต้ 189 คน ขณะที่ ตัวเลขการประมาณการรายได้ที่คนไทย ที่ทำงานในต่างประเทศส่งกลับประเทศผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวนรวมทั้งหมด 49,087 ล้านบาท แยกเป็นมกราคม 12,270 ล้านบาท กุมภาพันธ์ 10,305 ล้านบาท มีนาคม 11,361 ล้านบาท เมษายน 8,996 ล้านบาท และพฤษภาคม 6,155 ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่

1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง

2.กรมการจัดหางานจัดส่ง ได้แก่ โครงการจ้างตรง: ไต้หวัน โครงการ IM: ประเทศญี่ปุ่น โครงการ EPS: สาธารณรัฐเกาหลี โครงการ TIC :ประเทศอิสราเอล

3.เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง

4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน

5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

ซึ่งคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจเดินทางและควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบโดยศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างอย่างละเอียด กฎระเบียบเกี่ยวกับการจ้างงานในประเทศที่จะเดินทาง ซึ่งสัญญาจ้างนั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/กรมการกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ  ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

……………………………………………………………………………………