รมว.แรงงาน ยกทีมผู้บริหารลงใต้ ตรวจความคืบหน้าโครงการฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ พบ จ.ยะลา เป้าหมายดำเนินการกว่าหมื่นคนย้ำ คุณภาพการฝึกต้องมาก่อน ฝึกจบแล้วสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้จริง ให้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดความมั่นคงในชีวิต
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2561 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ณ หอประชุมพัฒนรัฐ (สุขเจริญ) ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่ารัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ 6 ด้านได้แก่ ด้านความมั่งคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมด้านสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารภาครัฐ
สำหรับจังหวัดยะลามีผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแจ้งความประสงค์จะฝึกอาชีพกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา จำนวน 10,489 คนแยกเป็นหลักสูตรการฝึกอาชีพเร่งด่วนช่างเอนกประสงค์ (ช่างชุมชน 215 คน) และหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม 10,274 คน ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น หลักสูตรการฝึกอาชีพเร่งด่วนช่างเอนกประสงค์ 4 รุ่น จำนวน 91 คน และหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริม 209 รุ่น จำนวน 4,628 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังได้เยี่ยมชมกิจกรรมสาธิตการฝึกอาชีพ ได้แก่ สาขาการประกอบอาหารไทย จำนวน 20 คน อาทิ เมนูแกงมัสมั่นไก่ ต้มยำกุ้งทะเลน้ำข้น แกงเขียวหวานเนื้อ สาขาขนมไทย จำนวน 20 คน อาทิ ตะโก้มันม่วง ขนมชั้นแฟนซี ขนมบ้าบิ่น สาขาการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวน 20 คน ได้แก่ การตรวจซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทให้พลังงานความร้อน และประเภทพลังงานกล
นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตอาชีพของแรงงานนอกระบบ ได้แก่ การทำรองเท้า ผ้ามัดย้อม จักสานตะกร้าเส้นพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ กล้วยหินฉาบ และกระเป๋าผ้า
รมว.แรงงาน ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีแผนดำเนินการจำนวน 402,671 คน ดำเนินการแล้ว 176,104 คน (ณ 16 สิงหาคม 2561) และการลงพื้นที่ในครั้งนี้ต้องการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน และรับฟังปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพการฝึก สาขาที่ดำเนินการต้องสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงจะได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการพัฒนาศักยภาพผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศจำนวน 652,120 คน ประกอบด้วย กิจกรรมการส่งเสริมและฝึกอาชีพ หลักสูตรฝึกอาชีพช่างเร่งด่วน ช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) จำนวน 60 ชั่วโมง 81,000 คนพร้อมทั้งมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกเพื่อการมีงานทำนำไปต่อยอดในการรับงานในชุมชน และกิจกรรมการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 18 ชั่วโมง 30 ชั่วโมง และ 60 ชั่วโมง หรือประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 544,120 คน มี 58 หลักสูตร เช่น การทำศิลปะประดิษฐ์ การแต่งผมสุภาพบุรุษ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การประกอบอาหารไทย เป็นต้น