วันนี้ (19 มิ.ย.63) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (อขร.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงสภาพกายภาพสถานีรถไฟฟ้าและระบบการเชื่อมต่อเพื่อรองรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยมี นายพีรพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวกลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อรายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินงาน นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อขร. กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ เพื่อการพัฒนาด้านการขนส่ง ลดความสูญเสียพลังงาน และผลักดันการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย ลดสถิติอุบัติเหตุจากการขนส่งทางถนน โดยมุ่งพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบการเดินทางหลักของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างครอบคลุม ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพกายภาพของสถานีและระบบการเชื่อมต่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการระบบรางได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ขร. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจและดำเนินการปรับปรุงสภาพกายภาพ รวมถึงจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า 4 แห่ง ประกอบด้วย สถานีท่าพระ สถานีสนามไชย สถานีบางหว้า สถานีบางไผ่ โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการปรับปรุงสภาพกายภาพและระบบการเชื่อมต่อบริเวณสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานผลการดำเนินงานให้ที่ประชุมรับทราบในคราวต่อไป พร้อมกันนี้ ขร. ได้เสนอให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการระบบขนส่งทางรางได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อบูรณาการการเชื่อมต่อโครงข่ายทางรางทั่วประเทศ โดยหน่วยงานที่ร่วมทำ MOU ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนนทบุรี KT และกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ขร. ทล. ทช. รฟท. รฟม. รฟฟท. ขสมก BTSC BEM ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการขนส่งและระบบการเชื่อมต่อ โดยมอบฝ่ายเลขาจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงเสนอที่ประชุมในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ขร. ได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินการยกระดับมาตรฐานระบบทางเท้า ทางสัญจร และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางในหลายรูปแบบ ที่จะสนับสนุนการเข้าถึงระบบสถานีขนส่งสาธารณะทางรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้า ทางสัญจร ได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางอย่างเท่าเทียม สร้างสรรค์ต้นแบบระบบทางเท้าหน้าเดิน พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่นำร่องแห่งอื่น ๆ ต่อไป
………………………………………………