“หน้ากากอนามัยใช้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ช้ำได้อีก” เป็นประโยคที่คุณหมอออกมาพูดเตือนเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี หลายคนเคยได้ยินหรือเห็นตามข่าวที่เผยแพร่ออกมาในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ช่วงแรกๆ ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นในการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกัน แต่ทว่าปัญหาที่ตามมาคือ การทิ้งหน้ากากอนามัยไม่ถูกวิธี เกิดเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
หน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการป้องกันสิ่งปนเปื้อนในรูปแบบของเหลว เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง และเลือด หรือละอองปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและปาก หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถือเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อที่ต้องมีการกำจัดและทิ้งอย่างถูกวิธี ทั้งนี้ก็เพื่อการป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้หน้ากากอนามัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยจะถูกใช้ในทางการแพทย์แล้ว ประชาชนทั่วไปยังมีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เหตุนี้จึงทำให้มีจำนวนขยะอันตรายจากการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ถูกวิธีเป็นจำนวนมาก
หากกำจัดไม่ถูกวิธีก็อาจเพิ่มโอกาสที่เชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายไปยังคนในชุมชนทั้งทางน้ำและทางอากาศ นอกจากจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนในชุมชนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ เพราะหน้ากากอนามัยมีส่วนประกอบที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายยาก เช่น พอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีว่า “หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วหากเกิดการฉีกขาด ใส่แล้วไม่กระชับ หรือเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายหรือเปียกน้ำ ให้เปลี่ยนใหม่ทันที ส่วนวิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ส่วนประชาชนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด ที่สำคัญต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนใส่และหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี” แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว
ในส่วนของการคัดแยกและการจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่ สสส. ผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนต่อสถานการณ์ขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Go Zero Waste ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” กระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการสร้างขยะในระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับประเทศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศไทยว่า “ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับโลก สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหลากหลายวิธี”
7 ขั้นตอนการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องซึ่งทำได้ง่ายๆ เพียง “พับ ม้วน ทิ้ง” ตามขั้นตอนดังนี้
1.ถอดหน้ากากโดยห้ามสัมผัสด้านใน และด้านนอกของหน้ากาก
2.พับ หรือม้วนหน้ากากเก็บส่วนที่สัมผัสร่างกายไว้ด้านใน
3.ใช้สายรัดพันไว้รอบหน้ากาก
4.ใส่ถุง (แยกกับขยะประเภทอื่น) พร้อมรัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ
5.เขียนบนถุงขยะนั้นให้เห็นชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัยใช้แล้ว)
6.ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) เพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดเชื้อ
7.ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
“การทิ้งหน้ากากอนามัยแบบถูกวิธี” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อลดปัญหาขยะมูลฝอย ลดการสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะ “หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไม่ใช่สิ่งไกลตัว สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมสร้างความตระหนัก ปลุกจิตสำนึกใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย ลดการสร้างขยะมูลฝอย พร้อมหนุนเสริมให้ทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นวาระแห่งชาติด้วยนวัตกรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
…………………………………………………………………………
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)