นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ด้านการทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพโดยใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายแทนการใช้สัตว์ทดลอง นำร่องให้บริการ 2 วิธีคือ การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน และการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเม็ดสีเมลานิน รองรับการวิจัยพัฒนายา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ชูจุดเด่นเรื่องมาตรฐานสากล ใช้เวลาและสารที่ต้องการทดสอบน้อย ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เดินหน้าต่อยอดพัฒนาการทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด สำหรับใช้ทดสอบยาต้านมะเร็ง รวมถึงการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่จะเปิดให้บริการในอนาคต
ดร.วิทยา พิมทอง นักวิจัยจากทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยฯ มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยด้านความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพร สารเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยในการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางศูนย์ได้ใช้ปลาม้าลาย (zebrafish) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Danio rerio เป็นแบบจำลองในการทดสอบ ซึ่งปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ได้แนะนำให้ใช้ปลาม้าลายเป็นต้นแบบในการทดสอบความเป็นพิษและการทดสอบฤทธิ์ยา
“ตัวอ่อนปลาม้าลายมีข้อดีต่อการวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมและพัฒนาการของตัวอ่อนหลายด้าน ไม่ว่าด้านปริมาณ ซึ่งปลาม้าลายตัวเมียที่โตเต็มวัยหนึ่งตัวสามารถให้ไข่ได้มากถึง 200 ฟองต่อสัปดาห์ ทำให้สะดวกต่อการทดสอบที่ต้องใช้สัตว์ทดลองจำนวนมาก, ปลาม้าลายปฏิสนธิภายนอก สามารถศึกษาพัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละระยะการเจริญเติบโตได้โดยง่าย ตัวอ่อนของปลาม้าลายมีพัฒนาการเร็ว และมีลำตัวโปร่งแสง สามารถศึกษาเส้นเลือดและพัฒนาการของหัวใจ รวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรม์ปลาที่ให้แสงฟลูออเรสเซนซ์ที่จำเพาะเจาะจงต่อยีน (gene) ใดยีนหนึ่ง”
เปิดบริการทดสอบที่แรกในไทย
ดร.วิทยาชี้ว่า ที่สำคัญ 70% ของยีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการของร่างกาย (protein-coding genes) ของมนุษย์พบในปลาม้าลายและ 80% ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในมนุษย์มีในปลาม้าลาย ทำให้โมเดลปลาม้าลาย สามารถใช้ทำนายผลต่อสุขภาพมนุษย์ และเนื่องจากปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดที่พบในธรรมชาติ จึงสามารถใช้เป็นโมเดลที่เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
นักวิจัยนาโนเทคกล่าวว่า ปลาม้าลายเป็นทางเลือกใหม่เพื่อใช้ศึกษาความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพรและสารเคมีอื่นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถลดปัญหาเรื่องจริยธรรมสัตว์ทดลอง เนื่องจากในการทดสอบใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายหลังปฏิสนธิจนถึงห้าวัน ในระดับสากลไม่ถือว่าเป็นสัตว์ทดลอง ปัจจุบัน มีการศึกษาจำนวนมากได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โมเดลปลาม้าลายเป็นโมเดลที่มีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาและได้รับการยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบัน ทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นาโนเทค เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพในตัวอ่อนปลาม้าลาย โดยในกระบวนการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของตัวอย่างในตัวอ่อนของปลาม้าลายอ้างอิงตาม OECD TG 236 (Fish Embryo Toxicity Test) นอกจากนี้ยังมีบริการการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเม็ดสีเมลานิน (Melanin Inhibitory assay) ในตัวอ่อนของปลาม้าลายอีกด้วย
“การทดสอบพิษวิทยาด้วยโมเดลปลาม้าลายนี้ ใช้ระยะเวลาทดสอบสั้นและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำกว่าโมเดลหนู นอกจากนี้ ยังใช้สารที่ต้องการทดสอบในปริมาณที่น้อยกว่า ทำให้เหมาะกับผู้ที่ต้องการทดสอบในเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์ทดลองที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Primate) หรือทดสอบทางคลินิกต่อไป” ดร.วิทยากล่าว
รองรับกระแสงานวิจัยยาจากสมุนไพรไทย
ทีมวิจัยฯ ยังเดินหน้าพัฒนาระเบียบวิธีในการทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด (Anti-angiogenesis assay) ซึ่งสามารถรองรับการทดสอบยาต้านมะเร็ง เพราะการกำเนิดหลอดเลือดเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการเกิดมะเร็ง และการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant activity assay) ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ในอนาคตต่อไป
การทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพในตัวอ่อนปลาม้าลาย นาโนเทคเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยมีผู้ใช้บริการแล้ว ทั้งกลุ่มสารสมุนไพร อนุภาคนาโน เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และคาดหวังว่า จะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องการทดสอบอนุภาคนาโน, สารสมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่นๆ
“นาโนเทคถือเป็นแห่งแรกของไทยที่เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยโมเดลปลาม้าลาย ก่อนหน้านี้ หากต้องการทดสอบด้วยโมเดลปลาม้าลาย ต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศในราคาที่สูง หรือเลือกใช้โมเดลหนูทดลองแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปลาม้าลายมาก”
ดร.วิทยาชี้ว่า บริการทดสอบฤทธิ์และพิษวิทยาด้วยโมเดลปลาม้าลายนี้ จะตอบโจทย์การพัฒนายา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร functional food รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรของไทยจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของสมุนไพรที่ให้ผลเรื่องความกระจ่างใส และการต้านมะเร็ง เปิดโอกาสให้งานวิจัยของไทยเดินหน้าได้เร็วขึ้น
นาโนเทค สวทช. เปิดบริการทดสอบพิษวิทยาในตัวอ่อนปลาม้าลายที่แรกของไทย เตรียมต่อยอดประยุกต์ทดสอบฤทธิ์ยาต้านมะเร็ง ตอบความต้องการทางการแพทย์
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาองค์ความรู้ด้านการทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพโดยใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายแทนการใช้สัตว์ทดลอง นำร่องให้บริการ 2 วิธีคือ การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน และการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเม็ดสีเมลานิน รองรับการวิจัยพัฒนายา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ชูจุดเด่นเรื่องมาตรฐานสากล ใช้เวลาและสารที่ต้องการทดสอบน้อย ค่าใช้จ่ายถูกกว่า เดินหน้าต่อยอดพัฒนาการทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด สำหรับใช้ทดสอบยาต้านมะเร็ง รวมถึงการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่จะเปิดให้บริการในอนาคต
ดร.วิทยา พิมทอง นักวิจัยจากทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยฯ มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยด้านความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพร สารเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยในการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทางศูนย์ได้ใช้ปลาม้าลาย (zebrafish) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Danio rerio เป็นแบบจำลองในการทดสอบ ซึ่งปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) ได้แนะนำให้ใช้ปลาม้าลายเป็นต้นแบบในการทดสอบความเป็นพิษและการทดสอบฤทธิ์ยา
“ตัวอ่อนปลาม้าลายมีข้อดีต่อการวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมและพัฒนาการของตัวอ่อนหลายด้าน ไม่ว่าด้านปริมาณ ซึ่งปลาม้าลายตัวเมียที่โตเต็มวัยหนึ่งตัวสามารถให้ไข่ได้มากถึง 200 ฟองต่อสัปดาห์ ทำให้สะดวกต่อการทดสอบที่ต้องใช้สัตว์ทดลองจำนวนมาก, ปลาม้าลายปฏิสนธิภายนอก สามารถศึกษาพัฒนาการของตัวอ่อนในแต่ละระยะการเจริญเติบโตได้โดยง่าย ตัวอ่อนของปลาม้าลายมีพัฒนาการเร็ว และมีลำตัวโปร่งแสง สามารถศึกษาเส้นเลือดและพัฒนาการของหัวใจ รวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรม์ปลาที่ให้แสงฟลูออเรสเซนซ์ที่จำเพาะเจาะจงต่อยีน (gene) ใดยีนหนึ่ง”
เปิดบริการทดสอบที่แรกในไทย
ดร.วิทยาชี้ว่า ที่สำคัญ 70% ของยีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการของร่างกาย (protein-coding genes) ของมนุษย์พบในปลาม้าลายและ 80% ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในมนุษย์มีในปลาม้าลาย ทำให้โมเดลปลาม้าลาย สามารถใช้ทำนายผลต่อสุขภาพมนุษย์ และเนื่องจากปลาม้าลายเป็นปลาน้ำจืดที่พบในธรรมชาติ จึงสามารถใช้เป็นโมเดลที่เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
นักวิจัยนาโนเทคกล่าวว่า ปลาม้าลายเป็นทางเลือกใหม่เพื่อใช้ศึกษาความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพรและสารเคมีอื่นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถลดปัญหาเรื่องจริยธรรมสัตว์ทดลอง เนื่องจากในการทดสอบใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายหลังปฏิสนธิจนถึงห้าวัน ในระดับสากลไม่ถือว่าเป็นสัตว์ทดลอง ปัจจุบัน มีการศึกษาจำนวนมากได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โมเดลปลาม้าลายเป็นโมเดลที่มีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาและได้รับการยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบัน ทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นาโนเทค เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพในตัวอ่อนปลาม้าลาย โดยในกระบวนการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของตัวอย่างในตัวอ่อนของปลาม้าลายอ้างอิงตาม OECD TG 236 (Fish Embryo Toxicity Test) นอกจากนี้ยังมีบริการการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเม็ดสีเมลานิน (Melanin Inhibitory assay) ในตัวอ่อนของปลาม้าลายอีกด้วย
“การทดสอบพิษวิทยาด้วยโมเดลปลาม้าลายนี้ ใช้ระยะเวลาทดสอบสั้นและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำกว่าโมเดลหนู นอกจากนี้ ยังใช้สารที่ต้องการทดสอบในปริมาณที่น้อยกว่า ทำให้เหมาะกับผู้ที่ต้องการทดสอบในเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การทดสอบในสัตว์ทดลองที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Primate) หรือทดสอบทางคลินิกต่อไป” ดร.วิทยากล่าว
รองรับกระแสงานวิจัยยาจากสมุนไพรไทย
ทีมวิจัยฯ ยังเดินหน้าพัฒนาระเบียบวิธีในการทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด (Anti-angiogenesis assay) ซึ่งสามารถรองรับการทดสอบยาต้านมะเร็ง เพราะการกำเนิดหลอดเลือดเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการเกิดมะเร็ง และการทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant activity assay) ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ในอนาคตต่อไป
การทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพในตัวอ่อนปลาม้าลาย นาโนเทคเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 โดยมีผู้ใช้บริการแล้ว ทั้งกลุ่มสารสมุนไพร อนุภาคนาโน เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และคาดหวังว่า จะมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ที่เป็นนักวิจัย รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องการทดสอบอนุภาคนาโน, สารสมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอื่นๆ
“นาโนเทคถือเป็นแห่งแรกของไทยที่เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยโมเดลปลาม้าลาย ก่อนหน้านี้ หากต้องการทดสอบด้วยโมเดลปลาม้าลาย ต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศในราคาที่สูง หรือเลือกใช้โมเดลหนูทดลองแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปลาม้าลายมาก”
ดร.วิทยาชี้ว่า บริการทดสอบฤทธิ์และพิษวิทยาด้วยโมเดลปลาม้าลายนี้ จะตอบโจทย์การพัฒนายา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร functional food รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในกลุ่มนักวิจัยและกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรของไทยจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของสมุนไพรที่ให้ผลเรื่องความกระจ่างใส และการต้านมะเร็ง เปิดโอกาสให้งานวิจัยของไทยเดินหน้าได้เร็วขึ้น