เกษตรฯ ย้ำยังต้องเฝ้าระวังหนอนชอนใบมะเขือเทศ พร้อมยันตั๊กแตนทะเลทรายไม่โฉบเข้าไทย

กรมวิชาการเกษตร ส่งสัญญาณเข้าฤดูกาลปลูกมะเขือเทศรอบใหม่ยังต้องเฝ้าระวังหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศหลุดเข้าไทย กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมเฝ้าระวังย้ำหากพบเสียหายหนักทั้งภาคเกษตร พร้อมสยบข่าวตั๊กแตนทะเลทรายเบรกเข้าไทย ยันอากาศร้อนชื้นไม่เหมาะขยายพันธุ์

นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เข้าสู่ฤดูปลูกมะเขือเทศรอบใหม่ จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกร โรงเรือนผลิตกล้ามะเขือเทศ และจุดรวบรวมผลผลิตและตลาด ให้ติดตามและเฝ้าระวังการระบาดของหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดตาก  เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่สำคัญของไทยที่เสี่ยงต่อการะบาดต้องเฝ้าระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ  เนื่องจากสถานการณ์ล่าสุดได้รับรายงานการระบาดของศัตรูพืชร้ายแรงชนิดนี้ในประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่การระบาดดังกล่าวอยู่ใกล้ชายแดนประเทศไทยมากขึ้น ดังนั้นสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชจึงได้นำกับดักฟีโรโมนไปติดตั้งไว้บริเวณช่องทางผ่านชายแดนด่านตรวจพืชจำนวน 48 แห่งของกรมวิชาการเกษตร พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันศัตรูพืชชนิดนี้ติดปนเปื้อนเข้ามา

แม้ในขณะนี้ยังไม่พบรายงานการแพร่ระบาดของศัตรูพืชต่างแดนชนิดนี้ในประเทศไทย ก็ตามแต่ก็ขอย้ำเตือนให้แหล่งปลูกมะเขือเทศของไทยที่ผลิตเพื่อบริโภคสดและเข้าโรงงานในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แหล่งผลิตเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ใช้ในประเทศและส่งออก ร่วมกันเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะหากพบเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศจะส่งผลกระทบให้ปริมาณผลผลิตลดลง หรือหากระบาดมากจะทำให้ผลผลิตเสียหายเกือบ 100% และส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงงานผลิตซอสมะเขือเทศอาจต้องมีการนำเข้าผลมะเขือเทศ รวมทั้งยังทำให้เกิดผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหนอนผีเสื้อชอนใบมะเขือเทศเป็นศัตรูพืชกักกันของประเทศไทยและอีกหลายประเทศ หากเกิดการระบาดจะส่งผลให้การเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าประสบปัญหามากขึ้น

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า สำหรับศัตรูพืชที่มีความร้ายแรงระดับโลกอีกชนิดหนึ่งที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศนั้น นับตั้งแต่ทาง FAO ได้แจ้งข้อมูลการระบาดของตั๊กแตนทะเลทราย กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่องค์กรอารักขาพืชแห่งชาติของประเทศไทยได้ประสานงานกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโรมและผู้เชี่ยวชาญด้านตั๊กแตนทะเลทรายของ FAO อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าโอกาสที่ตั๊กแตนจะแพร่ระบาดเข้ามาถึงประเทศไทยมีน้อยมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการตั้งรกรากเพื่อขยายพันธุ์ของแมลงชนิดนี้ ซึ่งชอบสภาพอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย รวมทั้งกระแสลมตะวันออกจะพัดพาตั๊กแตนให้บินไปทิศตะวันตกมากกว่าที่จะมาถึงไทย  

โดยสถานการณ์ล่าสุด FAO รายงานว่าตั๊กแตนทะเลทรายแพร่ระบาดในรัฐราชสถานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย และเป็นกลุ่มตั๊กแตนทะเลทรายที่มาจากอิหร่านและปากีสถาน นอกจากนี้ FAO ได้มีการพยากรณ์ว่าตั๊กแตนที่ระบาดในภาคเหนือ มีแนวโน้มระบาดในเขตภาคะวันออกและตะวันตกของประเทศอินเดียในต้นเดือนกรกฎาคม ก่อนที่จะกลับไปวางไข่ในรัฐราชสถาน ช่วงเริ่มเข้าฤดูมรสุม

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับคำยืนยันจาก FAO ว่าโอกาสที่ตั๊กแตนทะเลทรายจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยมีน้อยมาก แต่เพื่อเป็นการเฝ้าระวังแมลงศัตรูพืชชนิดนี้ไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดทำความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย   กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำมาตรการเฝ้าระวังและได้ทำการสำรวจเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยไว้ล่วงหน้าครอบคลุมทุกด้านแล้ว

…………………………………………………………………..

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร