พม. ลงพื้นที่ช่วยกลุ่มเปราะบางใน กทม. กว่า 300 ชุมชน พร้อมแจกอาหารให้ชาวชุมชนได้อิ่มกว่า 300,000 คน

วันที่ 17 มิ.ย. 2563 ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว ถ.กรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าวสรุปผลการลงพื้นที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางใน 286 ชุมชนในพื้นที่ กทม. ที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายใต้โครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” แนวคิด “สำรวจพบ จบที่ชุมชน

นางพัชรี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง กระทรวง พม. จึงมีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้ที่ตกงาน ทั้งนี้ จึงได้ขับเคลื่อนโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” แนวคิด “สำรวจพบ จบที่ชุมชน” ด้วยการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มเปราะบาง เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีเป้าหมายใน 286 ชุมชนในพื้นที่ กทม. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. 191 ชุมชน และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) 95 ชุมชน สำหรับผลการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนครบทั้ง 286 ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 20 – 30 เมษายน 2563 พบว่า ชุมชนมีความต้องการต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่

1.ด้านเงินช่วยเหลือ

2.ด้านที่อยู่อาศัย

3.ด้านอาชีพ-รายได้

4.ด้านการอุปโภคบริโภค การจัดตั้งครัวกลาง

5.ด้านการดูแลสุขภาพอนามัย การป้องกันโรคโควิด-19

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาทางสังคมทั้งสิ้น 18,434 ราย ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 3,639 ราย คนพิการ 1,677 ราย แม่เลี้ยงเดี่ยว 128 ราย เด็กและเยาวชน 2,383 ราย ผู้ด้อยโอกาส 7,574 ราย ผู้ที่ตกงาน 3,033 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องการการช่วยเหลือเร่งด่วนจำนวน 2,360 ราย

ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้มอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมจัดตั้งครัวกลาง 204 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นคลังอาหารชุมชน โดยตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน – 13 มิถุนายน 2563 สามารถแจกจ่ายอาหารให้กับชาวชุมชนได้ 323,610 ราย นอกจากนี้ ยังได้จัดทีมนักสังคมสงเคราะห์ 7 ทีม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเมินทางสังคมตามหลักการสังคมสงเคราะห์ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่างๆ ได้แก่ การมอบเงินอุดหนุนรายละ 2,000 บาท โดยได้มอบเงินแล้ว 1,391 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5,177 ราย

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในชุมชนต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร ในเขตคลองเตย ห้วยขวาง ราชเทวี ประเวศ พระโขนง บางบอน และตลิ่งชัน ทำให้ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าภาพดูแล จึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมจากรัฐ โดยการจัดทีมปฏิบัติการ จำนวน 50 ทีม ทีมละ 10 คน รวม 500 คน โดยมีข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษและระดับชำนาญการ ลงพื้นที่ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร สัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อเยี่ยมเยือนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคดังกล่าว ภายใต้โครงการ พม.เราไม่ทิ้งกัน” ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน พม. จะตามไปเยี่ยมเยือน โดยเริ่ม kick off เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยเป็นเพิงไม้ก่อสร้างเอง อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวในห้องแคบๆ สภาพแวดล้อมแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ประกอบอาชีพรับจ้าง แต่ขณะนี้ตกงานและว่างงานจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัย การมีงานทำ และการมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรม “สร้างอาชีพ เสริมรายได้ สร้างความมั่นคงสู้ภัย COVID-19” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการนำผู้นำชุมชน 74 ชุมชน มาร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการจัดหางานให้กับชาวชุมชนที่ตกงานและว่างงาน และการส่งเสริมการประกอบอาชีพ ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมตั้งแต่ระยะสั้น อีกทั้งการส่งเสริมอาชีพอิสระที่เหมาะสมกับชุมชน เช่น อาชีพซัก รีด เสื้อผ้า ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างล้างแอร์ การบริการทำความสะอาด และช่างเสริมสวย เป็นต้น อีกทั้งได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมแกนนำชุมชนเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ในชุมชนแออัด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ด้วยการนำผู้นำชุมชน 47 ชุมชน มาให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สู่การสร้างชุมชนปลอดภัยไร้โควิด-19

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการลงพื้นที่ช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย (หูหนวก) ในชุมชนคนหูหนวก เขตห้วยขวาง กทม. ซึ่งอยู่บริเวณใต้สะพานและริมถนนพระราม 9 ขณะนี้ มีครอบครัวคนหูหนวก 10 ครอบครัว ได้ย้ายเข้ามาอยู่บ้านใหม่ ณ อาคาร 55 ชุมชนบ้านเอื้ออาทรปทุมธานี (ลาดหลุมแก้ว 2) ภายใต้โครงการบ้านเช่าราคาถูก 999 บาทต่อเดือน ของ กคช. และในระยะยาว จะส่งเสริมการฝึกอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) นอกจากนี้ การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ภูมิภาค กระทรวง พม. โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ มีการจัดทีม One Home พม. ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหา จำนวน 21,543 ราย พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้โดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาของประชาชนนั้น รอไม่ได้

………………………………………………………………………………..