สศก. แจงสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอาเซียน เผย ไตรมาสแรก ยังเติบโตดี ได้ดุล 3.7 หมื่นล้าน

นางสาวทัศนีย์  เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง
การติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติ (พิกัด 4001) ของไทยกับภูมิภาคอาเซียน ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2563 พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรรวม 113,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 จากปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีมูลค่าส่งออกเป็น 75,415 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ของปรุงแต่งจากธัญพืช  แป้งและนม และสัตว์มีชีวิต อาทิ สุกรมีชีวิตอื่นๆ ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป สุกรมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ โคตัวผู้

สำหรับการนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 38,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 41.43
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชผักที่บริโภคได้โดยเฉพาะมันสำปะหลังและถั่วเขียว ปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ข้าวและธัญพืช และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งและนม ทั้งนี้ สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น  อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาการอนุญาตให้มีการนำเข้าโดยไม่จำกัดปริมาณภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์   ประกอบกับผลผลิตในประเทศมีปริมาณน้อยลง ทั้งจากปัญหาภัยแล้งรวมถึงโรคระบาดในข้าวโพด ทำให้ผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอ ต่อความต้องการใช้ จึงมีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และจำหน่ายต่อไป

ตารางแสดงการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญระหว่างไทย-อาเซียน 9 ประเทศ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2563
รายการ ปริมาณ(พันตัว,ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) สัดส่วน (ร้อยละ)
ส่งออก 2,535,772 75,415 100.00
น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล 1,494,872 14,575 19.33
เครื่องดื่ม 12,821 17.00
ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ 95,005 6,190 8.21
ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง นม 68,427 6,048 8.02
สัตว์มีชีวิต 4,038 5,650 7.49
อื่นๆ 873,430 30,130 39.95
นำเข้า 3,354,414 38,151 100.00
พืชผักที่บริโภคได้ 1,797,238 8,429 22.09
ปลาและสัตว์น้ำ 168,749 5,854 15.34
ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ 36,470 4,422 11.59
ข้าวและธัญพืช 733,704 3,887 10.19
ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม 19,840 3,019 7.91
อื่นๆ 598,414 12,540 32.87
รวมมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 5,890,186 113,566  

ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าในตลาดอาเซียนช่วง3 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 37,264 ล้านบาท        (ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 31.13) และเมื่อพิจารณาคู่ค้าที่สำคัญของไทย 3 ลำดับแรกพบว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกัมพูชาเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออก 14,336 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.01 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์และสุกรมีชีวิต ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังและมันเส้น เนื่องจากไทยมีปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเสียหายและมีปริมาณน้อยจึงต้องมีการนำเข้าจำนวนมาก รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 12,218 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.20 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูป ขนมปังและ ขนมจำพวกเบเกอรี่อื่นๆ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 11,994 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ15.90 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบและสตาร์ททำจากมันสำปะหลัง ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ ปลาอินเดียนแมคเคอเรลและปลาไอส์แลนด์แมคเคอเรล เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตปลาทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งไทยได้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกต่อไป

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากในหลายภูมิภาคของไทยประสบปัญหาภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและมาเร็วกว่าปกติ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ให้สามารถนำเงินใช้เพื่อการยังชีพลงทุนทำการเกษตรพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรต่อไป

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์     ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ

……………………………………………..