จากมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่เพิ่งคลอดออกมาจาก กระทรวงการอุมดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีการคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงในระยะฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังโควิดคลี่คลายว่าจะมีการปรับตัวในทุกมิติ
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา ซึ่งเป็นภาวะความปกติใหม่ของประเทศไทยที่ต้องเผชิญ โดยในระยะฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังโควิดคลี่คลาย ด้านเศรษฐกิจ พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีการกลับมายังประเทศไทยบ้างแต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่ากับก่อนการแพร่ระบาด ธุรกิจส่วนมากเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติแต่ยังมีการลดค่าใช้จ่ายและชะลอการลงทุน การเปิดชายแดนและการขนส่งระหว่างประเทศทำให้การส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประเทศไทยเป็นที่ต้องการในฐานะแหล่งอาหารของโลก ในด้านการค้าปลีก ตลาดออนไลน์กลายเป็นนิวนอร์มัล ถึงแม้ร้านค้าจะเริ่มกลับมาเปิดกิจการเป็นส่วนมากแล้วก็ตาม การทำงานที่บ้านเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นจากการที่พนักงานเริ่มมีความคุ้นชินและสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทหลายแห่งมีการอนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้เป็นเรื่องปกติ ภาครัฐมีการลงทุนเพื่อการสร้างงานขนาดใหญ่รองรับแรงงานตกงานที่ยังมีอยู่จำนวนมาก
ด้านสังคม ประชาชนส่วนมากเริ่มกลับมาทบทวนคุณค่าของชีวิต หลายคนกลับไปในทำงานในภูมิลำเนาเดิมของตน หรือหันไปทำงานที่รักมากขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ภาครัฐหันไปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และเกิดนวัตกรรมในระดับชุมชนมากขึ้น
ขณะที่ ด้านสุขภาพ พฤติกรรมการป้องกันโรคระบาดหลายเรื่องกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม เช่น การล้างมือเป็นประจำ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และหันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยคำนึงถึงสุขอนามัยมากขึ้น โรงพยาบาลมีการเตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำ โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อรองรับโรคระบาด ประเทศไทยมีการพัฒนาและส่งออกวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น มีการนํา tele-medicine คือ เทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบเรียลไทม์มาใช้อย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีด้านสุขภาพสามารถเข้าถึงประชาชนในชนบทได้มากขึ้น ภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพมากขึ้น
ในด้านการศึกษา สถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอนโดยมีมาตรการการป้องกันเป็นเรื่องปกติ ผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่นักเรียนและนักศึกษาเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ๆ ทำให้บางหลักสูตรมีการปิดตัวลง นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่และจบใหม่เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น เกิดเป็น local startup และ social enterprise จำนวนมาก
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ส่วนในระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ พบว่า มีการปรับตัวกันทุกภาคส่วนเช่นเดียวกัน โดย ด้านเศรษฐกิจ หลายประเทศทั่วโลกหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น ผลักดันให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนใหม่ๆ มีการเปลี่ยนจากห่วงโซ่อุปทานโลกมาสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคมากขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์หันมามุ่งเน้นลักษณะมิกซ์ยูสที่สามารถใช้ทำงานและอยู่อาศัยไปได้พร้อมๆ กันมากขึ้น การท่องเที่ยวคุณภาพเจริญเติบโต เช่น การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยอาศัยเทคโนโลยีระบบนำทัวร์เสมือนจริงเป็นส่วนหนึ่งประกอบการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว องค์กรภาคธุรกิจปรับตัวเข้มแข็ง มีการทำธุรกิจยุคใหม่หรือ lean และ agile organization มากขึ้น และสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ๆ สนับสนุนการทำงานที่บ้าน
ในด้านตลาดแรงงาน พบว่า ประชาชนหันไปทำงานในลักษณะอิสระมากขึ้น ภาครัฐพัฒนาระบบประกันแรงงานที่รองรับกลุ่มแรงงานดังกล่าวได้ ประชาชนลดการบริโภคของฟุ่มเฟือย และให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจชุมชนมีการเติบโตสูงขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายด้านไปสู่ชนบท และการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ส่วนด้านสังคม ประชาชนตื่นตัวภายหลังการแพร่ระบาดของโรคส่งผลให้ประชาชนตระหนักรู้ด้านการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ และสุขภาพ มากขึ้น สังคมหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความไว้วางใจระหว่างกัน แต่ความเหลื่อมล้ำกันทางสังคมยังคงมีอยู่บ้าง การรับราชการได้รับความนิยมมากขึ้นจากการที่ประชาชนต้องการความมั่นคงในชีวิตที่มากขึ้น
ด้านสุขภาพ การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประสบความสำเร็จ ประชาชนส่วนมากสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ มีการพัฒนาระบบสาธารณสุข มีแผนรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยได้รับการยอมรับเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ประชาชนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้นส่งผลให้ อุปกรณ์สวมใส่ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องประดับติดตัว เพราะสินค้าประเภท Wearable Device จะได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ Activity Tracker เป็นต้น อัตราของโรคไม่ติดต่อลดลง โดยการแพทย์เน้นไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา เกิดสตาร์ทอัพด้านสุขภาพจำนวนมาก ด้านการศึกษา การแข่งขันการระหว่างมหาวิทยาลัยมีสูงขึ้น เกิดการลดขนาดและแบ่งตลาดกันอย่างชัดเจน หลักสูตรมีการผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์ และออฟไลน์ สถานศึกษาบางแห่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดใหม่ได้ต้องปิดตัวลง การเรียนการสอนเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น
Download : รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/Covid-19Recovery
…………………………………………………………………….