ข้อมูลบางส่วนจาก แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สุขศึกษาในยุคโควิด-19
1 กรกฎาคม จะเป็นวันที่โรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ จะกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติอีกครั้ง เชื่อว่ามีหลายคนที่กำลังรอคอยช่วงเวลานี้อยู่ ทั้งตัวของเด็กๆ เองที่อยากกลับไปเรียนหนังสือ ไปเจอเพื่อนๆ ไปสัมผัสบรรยากาศที่พวกเขาคิดถึง ครู อาจารย์ที่รอพบนักเรียนด้วยความห่วงใย และอยากทำหน้าที่ดูแลลูกศิษย์ของตนอย่างดีที่สุด รวมทั้งบุคลากรด้านอื่นๆ ในสถานศึกษาที่รอคอยการกลับมาทำงานที่เขารัก กลับมาเห็นภาพบรรยากาศของเด็กๆ ที่เต็มไปด้วยความสดใส ภายใต้การจัดเตรียมความพร้อมทั้งในด้านสถานที่ ตัวบุคลากร และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ที่เปรียบเหมือนลูกหลานของพวกเขาได้กลับใช้ชีวิตที่โรงเรียนด้วยความปลอดภัยมากที่สุด
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต่างตระหนักรู้ เห็นความสำคัญในการป้องกัน ดูแล ปฏิบัติตนตามหลักชีวิตวิถีใหม่ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยไว้เสมอ เมื่อเดินทางออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์แทนเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่สะดวก รวมทั้งการระมัดระวังไม่ใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้อื่น เว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ซึ่งความรู้เบื้องต้นเหล่านี้ เชื่อว่าเด็กๆ และเยาวชนคงตระหนักรู้ และมีพื้นฐานในการดูแลตนเองมาบ้างแล้ว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีการระบาดของโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ และเน้นให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ให้แก่นักเรียนในช่วงวิกฤติการระบาดของโรค รวมทั้งใช้ประโยชน์ในงานวิชาการ สสส. ได้จัดทำคู่มือ “การจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19” รวบรวมองค์ความรู้เรื่องโรคโควิด-19 การจัดการให้เกิดการป้องกันและหยุดยั้งการแพร่กระจาย ข้อปฏิบัติด้านสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และสังคม การจัดการสอนสุขศึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานกาณ์โควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันเปิดภาคเรียนในแต่ละระดับชั้น สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือการจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19 ได้ที่ http://llln.me/zqpgs8q
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดทำการเรียนการสอน สถานศึกษาจะเป็นที่ที่เด็กๆ และเยาวชนใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่จะต้องส่งเสริมและเน้นย้ำให้นักเรียน นักศึกษามีความเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นของโควิด-19 ตามความเหมาะสมกับช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการ โรคแทรกซ้อน การติดต่อ วิธีป้องกัน และแหล่งข้อมูลในการติดตามข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือกระทรวงสาธารณสุข พึงระวังข่าวปลอมหรือเรื่องที่แต่งขึ้นแล้วส่งต่อแบบปากต่อปากหรือทางออนไลน์ รวมทั้งการให้ความรู้ตามหลักวิชาสุขศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย
สุขศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย
ระดับปฐมวัย
>เน้นเรื่องพฤติกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ดีเช่น การไอ หรือจามลงบนข้อพับแขน และการล้างมือบ่อย ๆ
>ร้องเพลงประกอบการล้างมือเช่น เพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้าง 2 รอบ เพื่อเป็นการฝึกล้างมือตามระยะเวลาที่แนะนำคือ 20 วินาที เด็กอาจฝึกล้างมือโดยใช้น้ำ สบู่ หรือ เจลล้างมือในห้องเรียนก็ได้
>ติดตามและตรวจสอบการล้างมือของเด็กและให้รางวัลสำหรับการล้างมือบ่อย ๆ ตามระยะเวลาที่แนะนำ
>นำหุ่นมือหรือตุ๊กตามาสาธิตให้เห็นอาการของโรค (จาม ไอ มีไข้) และการปฏิบัติตัวเมื่อรู้สึกป่วย (เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ตัวร้อน หรือรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ) รวมทั้งวิธีปลอบโยนผู้ที่เจ็บป่วย (ฝึกให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจ และ ความใส่ใจดูแล ผู้อื่นอย่างปลอดภัย)
>จัดให้เด็กนั่งห่างกันโดยให้เด็กกางแขนออกหรือทำท่ากระพือปีก ซึ่งจะต้องมีระยะห่างพอที่จะไม่สัมผัสตัวเพื่อน
ระดับประถมศึกษา
>รับฟังความกังวลและตอบคำถามของเด็กด้วยเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย โดยไม่ป้อนข้อมูลให้เด็กมากจนเกินไป รวมทั้ง กระตุ้นให้เด็กแสดงความรู้สึกออกมาพร้อมทั้งพูดคุยเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่พวกเขามี และอธิบายว่าเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะ มีปฏิกิริยาดังกล่าวในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้
>เน้นย้ำว่ามีหลายสิ่งที่เด็กสามารถปฏิบัติเพื่อดูแลตนเอง และผู้อื่นให้ปลอดภัย
– แนะนำแนวคิดเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม (ยืนห่างจากเพื่อน หลีกเลี่ยงฝูงชน)
– ไม่สัมผัสตัวผู้อื่นถ้าไม่จำเป็น
– เน้นย้ำเรื่องพฤติกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ดี เช่น การไอหรือจามลงบนข้อพับแขน และการล้างมือ
>เสริมความเข้าใจของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานของการป้องกันและการควบคุมโรค โดยอาจใช้อุปกรณ์แสดงให้เห็นการ แพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น ใส่น้ำผสมสีลงในขวดสเปรย์แล้วฉีดพ่นลงบนกระดาษสีขาว จากนั้นให้เด็กสังเกตดูการ กระจายตัวของละอองน้ำบนกระดาษ
>สาธิตให้เด็กดูว่า เหตุใดจึงจำเป็นต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นเวลา 20 วินาที โดยการใส่กากเพชรจำนวนเล็กน้อยลงในมือเด็ก ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำเปล่าแล้วสังเกตดูว่ามีกากเพชรตกค้างอยู่ในมือมากน้อยเพียงใด จากนั้นให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นเวลา 20 วินาที
>ให้นักเรียนวิเคราะห์ข้อความที่บ่งบอกพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมทั้งเสนอแนะพฤติกรรมที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเป็นหวัดและไปโรงเรียนแล้วจามโดยใช้มือปิดปากและจมูก จากนั้นก็จับมือทักทายเพื่อน แล้วเช็ดมือด้วย ผ้าเช็ดหน้าก่อนจะเข้าห้องเรียน เด็กคนนี้ทำสิ่งใดบ้างที่มีความเสี่ยง และเด็กควรปฏิบัติตนเช่นไรจึงจะเหมาะสม
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
>รับฟังความคิดเห็น ข้อวิตกกังวล และตอบคำถามของนักเรียน
>เน้นย้ำว่ามีหลายสิ่งที่นักเรียนสามารถปฏิบัติเพื่อดูแลให้ตนเอง และผู้อื่นปลอดภัย
– แนะนำแนวคิดเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม
– เน้นเรื่องพฤติกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ดี เช่น การไอหรือจามลงบนข้อพับแขน และการล้างมือ
– ย้ำเตือนนักเรียนว่า พวกเขาสามารถสร้างพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นตัวอย่างให้แก่ครอบครัวได้
>สนับสนุนให้นักเรียนป้องกันและจัดการกับปัญหาเรื่องการตีตรา
>จัดตั้งชมรมหรือจัดกิจกรรมของนักเรียนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสาธารณสุข
– ส่งเสริมให้นักเรียนจัดทำประกาศ โปสเตอร์ หรือคลิปวิดีทัศน์ เพื่อเป็นบริการสาธารณะและรณรงค์ทางสังคม โดยสามารถแปะไว้ที่บอร์ดของโรงเรียนหรือชุมชนได้
>บูรณาการเนื้อหาของวิชาสุขศึกษาไว้ในวิชาอื่น เช่น
– วิชาวิทยาศาสตร์ อาจบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสต่าง ๆ การติดต่อของโรค และความสำคัญของการฉีดวัคซีน
– วิชาสังคมศึกษา อาจเน้นเรื่องราวของโรคระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการของนโยบายด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย
– บทเรียนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นนักคิด และนักปฏิบัติที่มีวิจารณญาณ มีทักษะในการสื่อสาร และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าต่อสังคม
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย / อาชีวศึกษา
>รับฟังข้อวิตกกังวลและตอบคำถามของนักเรียน
>เน้นย้ำว่ามีหลายสิ่งทีนักเรียนสามารถปฏิบัติเพื่อดูแลให้ตนเองและผู้อื่นปลอดภัย
– แนะนำแนวคิดเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม
– เน้นเรื่องพฤติกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ดี เช่น การไอหรือจามลงบนข้อพับแขน และการล้างมือ
>สนับสนุนให้นักเรียนป้องกันและจัดการกับปัญหาเรื่องการตีตรา
– พูดคุยเกี่ยวกับปฏิกิริยาต่างๆ ที่นักเรียนพบเจอและอธิบายว่าปฏิกิริยาดังกล่าวเป็นสิ่งปกติในสถานการณ์ที่ผิดปกติเช่นนี้ พร้อมทั้งกระตุ้นให้พวกเขาพูดคุยและแสดงความรู้สึกออกมา
>บูรณาการเนื้อหาของวิชาสุขศึกษาไว้ในวิชาอื่น เช่น
– วิชาวิทยาศาสตร์ อาจบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสต่าง ๆ การติดต่อของโรค และความสำคัญของการฉีดวัคซีน
– วิชาสังคมศึกษา อาจเน้นเรื่องราวของโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกในประวัติศาสตร์และผลกระทบตลอดจนศึกษาว่า นโยบายสาธารณะช่วยส่งเสริมเรื่องความอดกลั้นและความสมานฉันท์ของผู้คนในสังคมอย่างไร
– บทเรียนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่มีวิจารณญาณ มีทักษะในการสื่อสาร และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าต่อสังคม
>ส่งเสริมให้นักเรียนจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสังคมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการเผยแพร่ทางสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ท้องถิ่น
เมื่อเด็กและเยาวชนได้รับความรู้ที่ถูกต้อง นอกจากพวกเขาจะนำไปใช้ในการดูแลและป้องกันตนเองแล้ว ยังสามารถแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น รวมทั้งนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นสื่อความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม เป็นแนวทางที่ดีในการค้นหาและพัฒนาศักยภาพของตน เพื่อเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 http://llln.me/yOLWJ1n
……………………………………………………………………………………………
ที่มา : ปัญจวรา บุญสร้างสม Team content www.thaihealth.or.th