ที่ดินไม่ได้ดูแล…..อาจหลุดเป็นของคนอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย

ที่ดินไม่ได้ดูแล…..อาจหลุดเป็นของคนอื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย โดย นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม กรรมการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมที่ดิน

วันดีคืนดีที่ดินของท่านอาจตกเป็นของคนอื่น หากท่านใดมีที่ดินหลายแปลงหลายแห่ง แล้วไม่มีเวลาดูแลหรือตรวจสอบที่ดินของท่านเป็นระยะเวลานานๆหลายปี พึงระวัง! ที่ดินของท่านอาจจะตกเป็นของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ว่าท่านจะมีโฉนดที่ดินอยู่ที่ตัวท่านก็ไม่สามารถทำอะไรได้

กรณีโฉนดที่ดิน

หากบุคคลอื่นได้แย่งการครอบครองที่ดินโดย “การครอบครองปรปักษ์” คือการที่บุคคลอื่นได้แย่งการครอบครองที่ดินที่เป็นโฉนดที่ดินของท่านมานานถึง 10 ปี โดยสงบ โดยเปิดเผยด้วยเจตนายึดถือเป็นเจ้าของเสียเอง หรือพูดภาษากฎหมายคือ

“อายุความได้สิทธิ” เป็นการที่บุคคลอื่นจะได้สิทธิ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเราโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากจะต้องฟ้องเรียกคืนการครอบครองทรัพย์สินนั้นจะต้องฟ้องภายในก่อนครบ 10 ปี มิฉะนั้นท่านจะเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินแน่นอน

การครอบครองปรปักษ์

จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ โดยเป็น “ที่ดิน” จะต้องมีโฉนดที่ดินเท่านั้น โดยผู้แย่งการครอบครองสามารถไปขอจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองได้ โดยใช้หลักฐานเอกสารแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย คำสั่งหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่แสดงว่าผู้ขอได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ บัตรประจำตัวประชาชน โฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดิน (ถ้ามี) ซึ่งถ้าผู้แย่งครอบครองไม่มีโฉนดที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติให้เจ้าพนักงานถือว่าโฉนดที่ดินนั้นสูญหาย และออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ให้ ส่วนโฉนดใบเดิมของท่าน (ฉบับเจ้าของที่ดินเดิม) เป็นอันถูกยกเลิก

กรณีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3  ก., น.ส. 3ข.)

หากบุคคลอื่นเข้าแย่งการครอบครองที่ดินที่เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของท่าน และท่านไม่ฟ้องขับไล่ภายใน 1 ปี ท่านจะเสียสิทธิการครอบครองที่ดินแก่บุคคลอื่นไป การมีโฉนดที่ดินอยู่กับตัวแต่ไม่ได้ไปดูแล ปล่อยให้ที่ดินเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน อาจจะตกเป็นของผู้อื่นได้โดยง่าย ดังนั้น ท่านจึงควรหมั่นดูแลรักษาที่ดิน หรือสร้างประโยชน์ในที่ดินของท่านที่เป็นน้ำพักน้ำแรง หรือมรดกที่ท่านได้มาให้เกิดประโยชน์สูงสุด

……………………………………………………………………………………….