คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จับมือ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดหลักสูตรร่วม 7 ปี ควบ 2 ปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต(นานาชาติ)

วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ณ ห้องประชุม 910AB ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าว เปิดหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต” และ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวและลงนามในบันทึกความร่วมมือ

ที่มาของโครงการ

ในปัจจุบันโลกได้เผชิญกับภาวะผันแปรจากโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้การรักษาพยาบาลและการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่ามีคุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็มีการใช้งบประมาณและทรัพยากรของประเทศอย่างมหาศาลและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืนได้ เราจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืองบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีโรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาลจัดการฝึกอบรมผู้บริหารองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี จึงได้ผนึกกำลังกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการชั้นนำของประเทศ เป็นหนึ่งในสี่สถาบันการศึกษาของประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐาน AACSB ในระดับนานาชาติ จัดทำหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” นี้ขึ้นโดยมุ่งหวังผลิตแพทย์นักบริหารที่มีภาวะผู้นำและมีความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการในระดับสากล ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะของสังคมไทยได้ กล่าวคือบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษานอกจากจะมีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพในฐานะแพทย์อย่างเต็มที่แล้ว ยังจะมีสมรรถนะและทักษะทางด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย

การผนึกสองหลักสูตร

นักศึกษาในโครงการจะได้เรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 6 ปีเต็ม และเพิ่มการเรียนในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) อีก 1 ปี รวมเวลาศึกษา 7 ปี โดยจะมีการบูรณาการของ 2 หลักสูตร ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด และเปิดโอกาสให้มีการวิจัยสร้างองค์ความรู้มุ่งไปสู่การพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเป็นสำคัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine, M.D.) และการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) (กจ.ม.) (Master of Management, M.M. – Healthcare And Wellness Management)

คุณสมบัติของผู้สมัคร

โครงการร่วม 2 ปริญญา “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” นี้จะเริ่มรับนักศึกษาสำหรับเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2564 โดยเปิดรับนักศึกษาปีละ 20 คน ผ่านการรับตรงระบบ TCAS รอบ Portfolio (TCAS I) ของ ทปอ. โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้

-ผลการศึกษามีคะแนนสะสมเฉลี่ย > 3.50

-ผลคะแนนการสอบ Biomedical Admission Test (BMAT) > 12.0

-ผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (IBT) > 8.0 หรือ IELTS (Academic modules) > 6.5

ประโยชน์ที่ได้รับ

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บัณฑิตแพทย์มีเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย อาจจะเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางที่มีทักษะและสมรรถนะของการบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำที่สามารถเรียนรู้ต่อยอด นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำพาทีมงาน หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตร M.D./M.M. (หลักสูตรการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม Healthcare and Wellness Management)
หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรในภาพรวม

-จากแนวโน้มการให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขภาวะประกอบกับแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย การมีผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการด้านบริการการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น  

-จุดเด่นของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Medical hub and wellness tourism ที่มีศักยภาพระดับโลก องค์กรสุขภาพต่าง ๆทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องปรับตัวให้สามารถบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดความต้องการแพทย์ที่มีทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่มากยิ่งขึ้น

-ความร่วมมือระหว่างรามาธิบดีและวิทยาลัยการจัดการในการพัฒนาหลักสูตร M.D./M.M. เพื่อพัฒนาโครงการมุ่งผลิตแพทย์นักบริหารที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะของสังคมให้กับประเทศ

สิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียนในหลักสูตร

-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแพทย์นักบริหารที่ดี เช่น ภาวะผู้นำ การตัดสินใจและการแก้ปัญหาการบริหารการเปลี่ยนแปลง การวางแผน การทำงานเป็นทีม เป็นต้น ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการจัดการที่สำคัญเช่น การจัดการในโรงพยาบาล การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การจัดการทางการเงิน การตลาด

-เป็นหลักสูตรนานาชาติที่จะเปิดโลกทัศน์ให้เห็นระบบสาธารณสุขในต่างประเทศ นโยบายสาธารณสุขต่างประเทศ

-เนื้อหาในหลักสูตรถูกออกแบบสำหรับแพทย์ที่มีความสนใจในการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาแพทย์นักบริหารที่มีความสามารถในการจัดการในโลกยุคดิสรัปชั่น ตลอดจนรับมือกับปัญหาในองค์กรและบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

หลักสูตรมุ่งสร้างสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับแพทย์นักบริหารที่ดีจะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1)Healthcare System & Policy เพื่อสร้างความเข้าใจแนวคิดของระบบบริการสุขภาพและนโยบายสาธารณสุข เข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมสุขภาพ นโยบายสาธารณสุข โมเดลของการดูแลสุขภาพ ระบบการบริการสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระบบการจ่ายเงิน ผ่านรายวิชา Principles & Concepts of Health Systems and Health Policy ประกอบกับ การเข้าใจเทรนด์แนวโน้มที่สำคัญของสุขภาพและเวลเนสผ่านรายวิชา Emerging Healthcare & Wellness Business Management

2)Leadership & Management มีวิชาสำคัญอย่าง Leading and Managing Healthcare Organizations เกี่ยวกับภาวะผู้นำและการจัดการองค์กรสุขภาพ การบริหารจัดการกับบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายวิชาชีพในองค์กรสุขภาพ สร้างความเข้าใจธรรมชาติขององค์กรทางสุขภาพ การบริหารจัดการโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

นอกจากนี้ในการเป็นผู้บริหารที่ดี หลักสูตรเพิ่มขีดความสามารถในการวางกลยุทธ์เพื่อทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน  ผ่านวิชาการตลาด การจัดการทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ การจัดการทรัพยากรบุคคล ตลอดจนออกแบบสร้างประสบการณ์บริการที่ดีให้กับผู้รับบริการได้ การจัดการข้อมูลและเทคโนโลยียุคใหม่

3)21st century skills ทักษะที่สำคัญแห่งโลกศตวรรษที่ 21 (soft skills) เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การตัดสินใจและการแก้ปัญหา การบริหารการเปลี่ยนแปลง การสื่อสารจูงใจ การเจรจาต่อรอง

จุดแข็งของหลักสูตร

เป็นหลักสูตรแรกและเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่เน้นการพัฒนาแพทย์นักบริหาร (M.D.-M.M.) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการนำจุดแข็งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์มาช้านาน ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการของวิทยาลัยการจัดการมหิดล เป็นหลักสูตรที่ได้รับมาตรฐานจาก AACSB (สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก)

วิธีการเรียนรู้จะเป็น practical learning ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง กรณีศึกษาจริง เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผู้สอน อาจารย์ประจำที่มีความเชี่ยวชาญจากงานวิจัยและการให้คำปรึกษาในภาคอุตสาหกรรม และอาจารย์พิเศษ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ตรง การศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และสถานประกอบการด้าน Health & wellness ติดตามรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ทาง

………………………………………………………..