ฝนที่ตกลงมาในหลายพื้นที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแม่น้ำสายต่างๆ ได้บ้าง แต่ยังไม่มากนัก แนวโน้มปริมาณน้ำดีขึ้น เดินหน้าเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการฯติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 15 – 16 มิ.ย. 63 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนช่วงวันที่ 17 – 20 มิ.ย. 63 ด้านรับมรสุมของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง พายุโซนร้อน “นูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณ เมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน และได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในระยะต่อไป
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(15 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,388 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,737 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 43,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,726 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,030 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้รวมกันกว่า 17,000 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (15 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,678 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 31 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,373 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้
ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด(ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 63) ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 3.12 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 1.53 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
ทั้งนี้ ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุ “นูรี” ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ บ้างแล้ว กรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 และสำรอไว้ใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคมนี้ จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมอาคารชลประทาน เครื่องจักรเครื่องมือ ที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลาทั้งสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม รวมไปถึง การกำจัดผักวัชพืชและผักตบชวาไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ช่วยให้น้ำไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์