ภาคีเด็กเตือนภัย สังคมก้มหน้า พรากพ่อแม่ลูกจากกัน ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกัน ! ขาดการสื่อสารเพราะต่างมีโลกส่วนตัวในมือ
ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลวิจัย ความห่างเหินในครอบครัวไทยยุคโซเชียลมีเดียเข้มข้น หรือ Living together but APART
พบว่าการเปลี่ยนแปลงครอบคัรวไทยส่งผลให้เยาวชนในครอบครัวบางรูปแบบเปราะบาง ครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกันลดลง ครอบครัวขยาย 3 รุ่น (ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูก) เพิ่มขึ้น แต่เวลาอยู่ร่วมกันลดลงเพราะเข้า อออกบ้านต่างเวลากัน
ที่สำคัญสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เกิดภาวะพลัดพรากซึ่งๆ หน้า เพราะอิทธิพลของการใช้มือถือ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ เด็กแรกเกิดจนถึงเยาวชน อายุ 18 มีประมาณ 13 ล้านคนซึ่งจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังผจญภัยอยู่ในโลกไซเบอร์
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นใช้มือถือร้อยละ 88.2 คอมพิวเตอร์ 52.9 และอินเทอร์เน็ต 30.3 โดยกลุ่มอายุ 6-14 ใช้ 60% 15-24 ใช้ 80% 25-34 ใช้ 60% 35-49 30% ในขณะที่กลุ่มอายุ 50+ ใช้น้อยที่สุดไม่ถึง 20%
สถานการณ์เด็กในยุคสังคมก้มหน้า จำนวนเด็กที่ทำความผิดคดีเกี่ยวกับยาเสพติด (2552-2558 ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น) จากข้อมูลพบว่า 57.6% เด็กอยู่กับพ่อแม่ 22% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่
ผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดีย พบการจำลองตัวเองแบบต่างๆ กัน (พหุอัตลักษณ์) ในห้องสนทนา (Chat Room) ทำให้มีความหมิ่นเหม่ทางเพศ ทั้งยังพบว่า เด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงมากที่สุด ผลกระทบด้านสังคมคือไม่พูดคุยกับคนรอบข้าง ซึมเศร้าอยูในโลกของความฝันของตัวเอง หงุดหงิด กังวลใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและคนรอบข้างลดลง ถ้าอยู่ในบ้านที่มีพ่อแม่กลุ่มอายุ 25-34 หรือ 35-48 ที่เสพติดโซเชียลมีเดียเช่นกัน สภาวะอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ (Living together but apart) เพราะสังคมก้มหน้าทำให้ปัญหายิ่งขยายวงกว้างจนบางครั้งอาจยากแก้ไข เพราะแม้โซเชียลมีเดียจะมีข้อดีคือช่วยจัดการเรียน ช่วยให้เด็กมีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น พอใจกับชีวิตของตนเองมากขึ้น มีความสุขที่ได้เล่นแต่ผลเสียที่ตามมาคือเรื่องสุขภาพ จากการศึกษาการติดสมาร์ตโฟนและผลกระทบ (โดยสุรีย์พร บุญช่วย 2559) พบว่า วัยรุ่นใช้สมาร์ตโฟนตั้งแต่ตื่นนอนถึงเข้านอนเฉลี่ยวันละ 10-15 ชั่วโมง ทำให้มีอาการปวดตา ปวดแขน และมีจำนวนเด็กติดเกมออนไลน์ (2557) ทั่วประเทศ 10-15% โดยใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมงซึ่งการใช้เวลาเล่นเกมมากกว่า 60.7 นาที หรือ 1 ชม. 7 นาที/วัน ส่งผลให้วัยรุ่นไทยมีความเครียด จิตใจแปรปรวน
- สถาบันสุขภาพจิตรายงานว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 พบผู้ป่วยและวัยรุ่นที่มีอาการเสพติดเกมในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตเวชอย่างด่วนถึง 53 คน เพิ่มสูงขึ้น 5 เท่าในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย มีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น วิตกกังวล ซึมเศร้า มีพฤติกรรมโกหก เล่นการพนัน หนีเรียน
- ส่วนใหญ่อายุ 14-16 ปี และพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยสุดคือ 5 ขวบ พบว่าเด็กในกลุ่มนี้ได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย
คุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเผย สังคมก้มหน้าสร้างช่องว่างในครอบครัว ทำให้เด็กถูกละเมิดมากขึ้น
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังมีอันตรายทั้งทางตรงและทางแฝง
ภัยทางตรงเกิดจากการที่เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการทราบ ในวัยที่ยังไม่ควรล่วงรู้และไม่สามารถแยกแยะว่า มีความเหมาะสมกับวัยหรือไม่ ดังข่าวพฤติกรรมไม่เหมาะสมทางเพศ ที่ปรากฏในสื่อต่างๆ
ส่วนภัยแฝงที่มาจากการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น การไปเล่นเกมบ้านเพื่อน อาจจะก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และอ่อนเดียงสา ปรากฏการณ์แม่วัยใส พบในเด็กอายุต่ำสุด 8 ขวบ !!
นอกจากพฤติกรรมทางเพศอันเกิดจากเลียนแบบสื่อที่ได้เสพแล้ว เด็กๆ ยังอาจถูกล่วงละเมิดโดยผู้ใหญ่ในบ้าน อาจเป็นญาติเพื่อนหรือเด็กที่โตกว่า การถูกละเมิด ไม่เว้นว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย เพราะปัจจุบันสภาพเพศทางสังคมมีความแปรปรวนอย่างมาก การที่เด็ก ขอไปเล่นเกมบ้านเพื่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจดัง เข็นเด็กขึ้นภูเขา ให้ความเห็นเรื่องการเฝ้าระวังดูแลลูกในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็ก พ่อแม่ ต้องทำความรู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนๆ ในกลุ่มของลูก เพื่อร่วมมือกันป้องกันเด็กจากภัยโซเชียลมีเดีย เช่น ถ้าลูกขอไปเล่นเกมบ้านเพื่อน ต้องมีพ่อแม่บ้านใดบ้านหนึ่งผลัดกันเป็นเจ้าบ้าน คอยดูแล อย่าปล่อยให้เด็กๆ เล่นเกมกันตามลำพังเพราะนำมาซึ่งปัญหาพฤติกรรมทางเพศได้
พญ.เบญจพร หรือ “หมอมิน บานเย็น” ของพ่อแม่ที่เป็นแฟนเพจของเธอ กล่าวให้กำลังใจพ่อแม่ว่า ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาในเด็กได้ง่ายขึ้น พ่อแม่ควรมั่นใจในการเลี้ยงลูกว่ายากขึ้น แต่ไม่ยากเกินความตั้งใจที่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี มีความสุขทั้งลูก และพ่อแม่
“ต้องใช้หลัก 2 ร. สัมพันธภาพที่ดีต้องสร้างตั้งแต่เด็กเกิดมา “ร” ตัวแรก คือ “รัก” ความรักความใกล้ชิด สัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน ตรงนี้ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่เด็กเกิดมา คือ พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่ ให้ความรัก ความอบอุ่น ยิ่งเมื่อเด็กยังเล็กๆ ต้องพึ่งพาพ่อแม่มาก การที่มีพ่อแม่ที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมั่นคงมีความสำคัญ ทำให้เด็กรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่ กลายเป็นความรัก ความไว้วางใจ เชื่อมั่น” พ.ญ.เบญจพร กล่าว
เมื่อพ่อแม่กับเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เด็กก็จะรู้สึกไว้วางใจ เชื่อใจ เวลามีปัญหาอะไรก็จะเล่าให้พ่อแม่ฟังได้ แต่ถ้าเด็กรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่ เวลามีอะไรก็อาจจะไม่อยากบอก เพราะอาจจะคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ บางทีก็ไปแก้ปัญหาเอง กลายเป็นผลกระทบตามมาได้
ความรักก็จะนำมาซึ่งความใส่ใจในความรู้สึก ความเกรงใจว่าจะทำอะไรให้คนที่รักเสียใจ ถ้ารู้ว่าพ่อแม่ไม่ชอบ เด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ก็จะเตือนตัวเองได้ว่า ไม่ทำดีกว่า ไม่อยากให้พ่อแม่เสียใจ
พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยขาดในเรื่องของการให้ความรักความอบอุ่น
แต่บางครั้งก็ “รัก” จนขาดสติ ตามใจอย่างมาก ไม่มีขอบเขต ลูกอยากได้อะไรก็ให้ จนกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักควบคุมความต้องการ เพราะพ่อแม่ไม่เคยขัดใจ เมื่อถึงเวลาที่ต้องขัดใจ คราวนี้จะยากมากเพราะไม่ค่อยได้เคยทำ เด็กจะมีแนวโน้มกร้าวร้าว โวยวาย บ้านปั่นป่วนโกลาหล
“ร” ตัวที่สอง มีความจำเป็นตัวที่จำเป็นในการสร้างสมดุล คือ “ระเบียบวินัย”
เด็กควรจะรู้จักควบคุมตัวเองตามระเบียบกฎเกณฑ์ตามช่วงวัยที่เหมาะสม
เด็กเล็กๆ จะอยากทำอะไรตามใจ ถ้าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เช่น เด็กอยากจะช่วยเหลือตัวเอง กินข้าวเอง เรื่องนี้ผู้ใหญ่ควรจะส่งเสริม แต่ไม่ใช่ทำได้หมด ถ้าเด็กทำผิดผู้ใหญ่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ว่าทำไม่ได้ ไม่ควรทำ
“ร” ระเบียบวินัย ก็ต้องมีให้สมดุลกับ “ร” ความรัก เพราะบางบ้านมีกฎระเบียบเคร่งครัดเกินไป ขาดความเอื้ออาทรกับเด็ก ไม่รับฟัง ไม่ให้ความเข้าใจเด็ก
การให้เด็กทำตามกฎระเบียบ ควรเกิดขึ้นพร้อมกับการให้ความรัก และสร้างสัมพันธภาพที่ดีไปด้วยกัน เด็กจะเชื่อฟังมากขึ้นถ้าเด็กมีความรู้สึกทางบวกกับผู้ใหญ่
ถ้าพ่อแม่ทำให้ 2 “ร” นี้เกิดขึ้นในการเลี้ยงลูก ลูกๆ จะเป็นเด็กดีที่มีความสุข
สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของกมลชนก เขมะโยธิน หรือ คุณกวาง นางเอกดังในอดีต ปัจจุบันมีลูกชายวัยรุ่น อายุ 14 และลูกสาววัย 13 ทั้งน้องเน็ท (เด็กชายเนตร เขมะโยธิน) และน้องเนย (เนตรทราย) เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนดาราและผู้พบเห็นว่า เป็นวัยรุ่นที่มีความเป็นไทย มีความประพฤติเหมาะสม มีสัมมาคารวะ
กมลชนกเล่าว่า เธอวางมือจากการแสดงตั้งแต่ลูกทั้งสองยังเล็ก เพื่อทำหน้าที่สำคัญของแม่ ต้องลด ละ เว้นความชอบในชีวิตส่วนตัวที่เคยชินก่อนมีลูก เพื่อเอาเวลาเหล่านั้นมาให้ลูก การไปส่งลูกไปโรงเรียน หรือไปรับลูกกลับบ้าน เป็นสิ่งที่เธอและสามี ผลัดกันทำ สม่ำเสมอ
บางคนถามว่าทำไมยังต้องตามรับส่ง ลูกโตแล้ว ยิ่งโตยิ่งสำคัญ ต้องคุยกับลูกทุกวัน ต้องรู้เรื่องที่โรงเรียน เรื่องครู เรื่องเพื่อนของลูก เรื่องเรียกว่าต้องรู้ทุกความเคลื่อนไหว และความคิดที่เปลี่ยนไปของลูก
เด็กตั้งแต่เล็กจนโต ความคิดเขาจะเปลี่ยนตลอดเวลา วัยรุ่นเป็นวัยสำคัญที่สุด เขารู้อะไรมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น เพื่อนมีบทบาทสำคัญมาก แต่เขายังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะเลือกได้ว่าอะไรถูกต้องและเหมาะสม
เลี้ยงลูกวัยรุ่น ต้องไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เล่นเกมได้ แต่การบ้านต้องเสร็จก่อน เคยให้เล่นเป็นชั่วโมงก็มีในวันหยุด แต่ต้องไม่เครียดเกินไป ต้องมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วยเช่น เล่นกีฬา หรือเล่นดนตรี
ลูกขอไปทำกิจกรรมกับเพื่อน ก็ให้ไป แต่เลือกที่เหมาะสม เช่น พอสอบเสร็จ ลูกสาวขอไปเล่นเลเซอร์ กับ เล่นสะเก็ตน้ำแข็งกับเพื่อน ก็ให้ไป แต่แม่ไปส่ง และไปรับ ขอ 4 อย่าง ให้ 2 อย่าง พอเล่นเสร็จลูกขอไปกินข้าวกับเพื่อน ก็บอกว่า ลูกอยู่กับเพื่อนหลายชั่วโมงแล้ววันนี้ ไปกินข้าวกับครอบครัวเราดีกว่า วันหลังค่อยไปกับเพื่อน ลูกก็ไม่ดื้อเพราะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ให้ แต่ไม่ให้ทั้งหมด
เรื่องโซเชียลมีเดีย เราต้องเฝ้าระวัง ให้ดู แต่ต้องเข้าไปดูด้วย และสอนว่าอะไรถูกอะไรผิดถ้าเราไม่สอน ลูกกดเข้าไปดูเองได้ตลอด เป็นอันตรายมากสำหรับเด็กวัยเรียนที่ไม่รู้เท่าทัน บอกลูกว่า ดูได้ แต่อย่าเลียนแบบเพราะมันไม่ถูกต้อง
นอกจากการอบรมดูแลใกล้ชิด คุณกมลชนก ยังส่งลูกสาว และลูกชายวัยรุ่นไปเข้าค่ายธรรมะ แม้ว่าจะจัดแยกกันคนละครั้ง ครอบครัวนี้ก็ไม่ละเลยการปลูกฝังวิถีพุทธให้กับลูกๆ เด็กทั้งสองจึงเป็นตัวอย่างวัยรุ่นไทยที่ยังคงอยูในรูปในรอยได้ แม้กระแสโซเชียลมีเดียจะรุมเร้ารอบตัว
“สองมือแม่นี่แหละ สำคัญที่สุด” คุณศิริพร สะโครบาเนค ประธานกรรมการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึง บทบาทของผู้หญิงที่เป็นแม่ ในยุคสังคมมีความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าแม่จะต้องรับภาระหนักขึ้น แต่ต้องมีความหนักแน่น มุ่งมั่น ในการเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ มีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนไม่น้อย ที่ทุ่มเท ดูแลเอาใจใส่จนลูกเติบโตเป็นคนดี ซึ่งมีหลักง่ายๆ คือ มีสัมมาอาชีพ จะทำงานใดก็ได้ขอให้เป็นงานสุจริต พึ่งตนเองได้ และมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น
แต่สังคมก็ต้องช่วยแม่ด้วย เช่น มีการให้ความรู้ความเข้าใจง่ายๆ ตั้งแต่ตั้งท้อง รู้ทั้งวิธีดูแลตนเอง ดูแลสุขภาพกายและจิตเพื่อให้ลูกเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง เฉลียวฉลาด นอกจากนั้น แม่ยังต้องเรียนรู้ว่า ควรสื่อสารเชิงบวกกับลูก ละเว้นถ้อยคำที่ทำร้ายจิตใจลูก ต้องทำบรรยากาศในบ้านให้อบอุ่นด้วยความรักและความเข้าใจ เพราะบ้านที่ขาดความรัก ความเข้าใจก็เหมือนบ้านที่มีระเบิดเวลา
“กิจกรรมที่ขอเสนอให้ทุกๆ สถานที่ทำงานทำ คือ การ Empower คนทำงาน ซึ่งเป็นพ่อ เป็นแม่ เพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะมีลูกเมื่อพร้อม และต้องเตรียมตัวเป็นแม่ที่ดีตั้งแต่ตั้งท้อง ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้เกิดช่องว่างในสภาวะที่สังคมก้มหน้าระบาดเข้าครัวเรือน
ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบางแห่ง อย่างบ้านกาญจนาภิเษก มีกิจกรรมฟื้นฟูโดยให้พ่อแม่ลูกร่วมกันพิจารณาว่าปัญหาในบ้านเกิดเมื่อไร จึงได้ลุกลามมาเป็นระเบิดเวลา ขอเสนอว่า เราควรมีการอบรมให้พ่อแม่เข้าใจตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องว่า พ่อแม่ ต้องไม่เป็นผู้สร้างระเบิดเวลาบ้าน จะช่วยป้องกันเด็กๆ ได้ดีกว่ามาค้นหาระเบิดเมื่อเขากลายเป็นอาชญากรไปแล้ว”
สมัยนี้แม่ที่มีการศึกษาดี เข้าถึงสื่อได้ดี ไม่น่าห่วงนัก เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก แต่พ่อแม่ที่มีต้นทุนน้อย เช่น มีการศึกษาพออ่านออกเขียนได้ รัฐและสื่อควรช่วยกันส่งผ่านข้อมูลข่าวสารให้ เพื่อช่วยให้แม่ที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน มีคู่มือในการเลี้ยงดูลูกให้สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล
“องค์กรใดเห็นความสำคัญในการพิทักษ์เด็ก ต้องลงทุนตั้งแต่อยู่ในท้อง เช่น ถ้ามีการจัดอบรมค้นหาระเบิดเวลาในบ้าน ก็สามารถเผื่อแผ่ความรู้ให้แม่ที่ด้อยโอกาสโดยผ่านโซชียลมีเดียต่างๆ
เด็กคืออนาคตของชาติ ต้องร่วมกันพิทักษ์ด้วยมือคนรักชาติทุกคน” ประธานกรรมการมูลนิธิผู้หญิงกล่าว
ปัญหาเด็กในมุมมองของคุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก
“เด็กเป็นผลลัพธ์และผลผลิตที่รัฐไม่ได้ลงทุนอย่างจริงจัง การที่เด็กก่ออาชญากรรม หรือมีความประพฤติไม่เหมาะสม เช่น ท้องในวัยเรียน ไม่ใช่ปัญหาของเด็กโดยลำพัง ไม่มีเด็กคนไหนตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่าจะเป็นอาชญากร จากวัยเด็กจนเติบโต เรื่องราวในชีวิตเด็กเปลี่ยนไป ปัญหาไม่ได้เริ่มในวันที่เขาลงมือก่ออาชญากรรม แต่เริ่มตั้งแต่วันที่เขาเกิดมาในครอบครัวหนึ่ง เป็นนักเรียนในโรงเรียนหนึ่ง เป็นวัยรุ่นในสังคมหนึ่ง เขาเป็นผลผลิตที่รัฐไม่ได้ลงทุนเพื่อเขาอย่างจริงจัง ทำให้ทุนสามานย์เข้ามาแทน ชักนำไปทางที่มืด การลงทุนอย่างจำกัด ผิดทิศทาง คือระเบิดเวลาของสังคม
การเยียวยาปัญหาเด็กที่ต้องคำพิพากษามายืนตรงหน้าเราจึงต้องทำบนพื้นฐานของโจทก์จริง ซึ่งมีจำเลยร่วมคือนโยบายรัฐและความเพิกเฉยของสังคม ที่บ้านกาญจนาภิเษก ใช้ Soft Power คืออำนาจที่ประหนึ่งไม่ใช่อำนาจ มีการให้มีส่วนร่วม มีความเมตตา มีบทเรียนที่มีการออกแบบภายใต้ปัญหาของเด็ก
การรอให้รัฐตื่นรู้ อาจต้องใช้เวลารอคอยอีกหลายช่วงอายุคน แต่สิ่งที่เราทำได้เลยคือ การ Empower ครอบครัว เปิดใจพ่อแม่ให้ช่วยค้นหาที่มา หรือพื้นที่ที่สร้างระเบิดเวลาให้ลูก แล้วต้องช่วยกันถอดสลักระเบิดเวลานั้นด้วยตัวเอง”
บ้านกาญจนาภิเษก จัดกิจกรรม Empower ครอบครัวปีละ 6 ครั้ง พ่อแม่ของเด็กทุกคนต้องเข้าร่วม ผลของความพยายามเยียวยาด้วยความรัก ความเข้าใจ และ ความเมตตา ทำให้เด็กที่ผ่านบ้านกาญจนาภิเษกไป มีอัตราการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่าบ้านอื่นๆ อีก 18 แห่ง
คุณพิภพ ธงไชย เลขานุการมูลนิธิเด็ก กล่าวว่า การพัฒนาเด็กไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เรามีคณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดย 9 กระทรวงหลักมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 10 ปีผ่านมาก็ยังย่ำอยู่กับที่
จากประสบการณ์ในการทำงานด้านพัฒนาเด็กในมูลนิธิเด็กมา 40 ปี พบว่า เด็กไทย ๓๐% จบจากโรงเรียน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
เด็กไทยเป็นโรคแอลดี (LD = learning disorder) หรือการเรียนรู้บกพร่อง เป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ที่แสดงออกทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ การคำนวณ และเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์
เด็กไทยที่มีปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง ส่วนหนึ่งถูกเขี่ยออกจากระบบการศึกษา เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ ๖ โดยเฉพาะคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ถูกผลักไสเข้าสู่วงจรผู้ใช้แรงงาน
การศึกษาไทย ทำให้คนคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งทุกระดับก็คิดไม่เป็นเช่นกัน ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเพราะมีเหตุปัจจัยอื่นมากกว่าเหตุผลแห่งการวิเคราะห์ คิดแบบชาวบ้าน ขาดจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทย การคิดบนพื้นฐานของผลประโยชน์ต่างตอบแทน จึงเห็นการเลือกตั้งเป็นแบบสังคมอุปถัมภ์
การศึกษาไทย และการเลี้ยงดูเด็กไทย ถึงเวลาต้องปฏิรูปการศึกษา และการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ
รัฐต้องพิทักษ์เด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ปัญหาเด็กเกิดและสะสมมานานนับปี ในยุคโซเชียลมีเดียและสังคมก้มหน้า ปัญหาก็ยิ่งรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน แก้ที่เหตุ อย่างตรงจุดก็พอจะหยุดหรือชะลอปัญหาได้
เริ่มที่ 13 ล้านคน เริ่มที่ครอบครัวที่มีลูกด้วยความรัก พลังรักของพ่อแม่ มีความสำคัญมากที่สุดที่จะปกป้องลูก ขอให้สังคมช่วยกันพิทักษ์เด็ก โดยส่งเสียงเตือนพ่อแม่ ส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้พ่อแม่ใช้เลี้ยงดูลูก ใช้ข้อดีของโซเชียลมีเดียซึ่งให้ความรวดเร็วและกว้างขวางในการส่งผ่านข้อมูล เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเสียคน เพียงแต่อาจจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน หรือ บางคน “ติดกับ” เทดโนโลยี คิดว่าปล่อยให้เด็กอยู่กับไอแพด หรือ มือถือ เป็นเรื่องโก้เก๋ ซึ่งถูกแค่ส่วนเดียว เด็กอยู่กับเทคโนโลยีได้ แต่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ต้องคอยดูอยู่ใกล้ๆ อย่าปล่อยให้ภัยแฝงในโซเชียลมีเดียพาเด็กไปสู่มุมมืด
แม้ว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องพิทักษ์เด็ก แต่ปัญหาของเด็กรอไม่ได้ สังคมก็ต้องช่วยกันปกป้องเด็กเพราะอีกไม่นาน 13 ล้านคนนี้ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาเป็นคนดีก็จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม แต่ถ้าตรงข้ามก็คือระเบิดเวลาของประเทศ”