คปภ.ระบุไฟไหม้เรือที่จังหวัดพังงามีประกันภัยคุ้มครองทั้งภาคบังคับ-สมัครใจ พร้อมเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมอย่างเป็นธรรม

จากกรณีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 เวลา 10.30 น.ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้เรือชื่อ บีบี ซีไลออน 9 หมายเลขทะเบียน 5951-05565 วัสดุตัวเรือทำด้วยไฟเบอร์กลาส ขนาด 13.16 ตันกรอส ประเภทการใช้เรือเพื่อบรรทุกคนโดยสาร (เรือเร็ว) ได้รับนักท่องเที่ยวชาวอาหรับจำนวน 20 คน จากท่าเรือแหลมทราย ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต แล่นเรือพานักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมาเล่นน้ำบริเวณอ่าวหมาน หมู่ 5 ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ขณะที่นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำและกัปตันเรือทานอาหารอยู่บนฝั่ง โดยมอบหมายให้ช่างเครื่องเฝ้าเรือ ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้บริเวณใต้ท้องเรือและลุกลาม ส่งผลทำให้ช่างเครื่องคนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาลถลาง จังหวัดภูเก็ต ส่วนนักท่องเที่ยวและกัปตันเรือไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนไปแล้วนั้น

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าได้กำชับให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต เร่งประสานการทำงานแบบบูรณาการกับ สำนักงาน คปภ. จังหวัดพังงา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) เพื่อติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่าเรือที่เกิดเหตุไฟไหม้มีการทำประกันภัยหรือไม่ ถ้ามีเป็นกรมธรรม์ประเภทใดและได้รับความเป็นธรรมเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมจากระบบประกันภัย ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นของ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต พบว่าเรือบีบี ซีไลออน 9 หมายเลขทะเบียน 5951-05565  (ประเภทเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขต) เป็นของบริษัท บีบี ซีไลออน จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 101/465 หมู่ 6 ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้ทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ MUP-11-6103-0146 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 14 มีนาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 14 มีนาคม 2562 ซึ่งกรมธรรม์ระบุให้ความคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 100,000 บาท ต่อผู้โดยสาร 1 คน และกรณีค่ารักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 15,000 บาทต่อผู้โดยสาร 1 คน นอกจากนี้ยังมีการทำประกันภัยตัวเรือไว้กับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ MH001240-18 RBK ทุนประกัน 4,000,000 บาท เริ่มความคุ้มครอง วันที่ 17 มกราคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 17 มกราคม 2562 รวมทั้งได้ทำประกันอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ D8-69-61/000009 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 11 มกราคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 11 มกราคม 2562 จึงได้สั่งการให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดพังงา สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตและสำนักงานคปภ.ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้เกิดอุบัติเหตุทางเรืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสำนักงานคปภ.จึงได้จัดโครงการรณรงค์ให้ผู้ประกอบการเรือและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางเรือได้ตระหนักเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงในการประกอบกิจการและบริหารความเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเภทเรือโดยสารหรือเรือประเภทอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้บรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งเป็นการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปและเรือโดยสารนั้นจะวิ่งในเส้นทางใด ไม่ว่าจะเป็นในคลอง แม่น้ำ ระหว่างแม่น้ำ หรือ ทะเล จะต้องทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสารภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เนื่องจากกฎกระทรวงคมนาคมฉบับที่ 73 (พ.ศ.2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บจากการโดยสารเรือ โดยจะได้รับความคุ้มครอง อาทิ ในกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท และในกรณีและค่ารักษาพยาบาล ได้รับความคุ้มครองไม่เกิน 15,000 บาท เป็นต้น

“แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้บาดเจ็บ 1 คน และเกิดความเสียหายด้านทรัพย์สิน เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ประสบภัยที่มีการทำประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัย จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ความสำคัญและหันมาทำประกันภัยกันให้มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง เพราะหากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นระบบประกันภัยจะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ในส่วนของผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะก็จะต้องทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วยเพื่อนักท่องเที่ยวจะได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยตลอดเวลา หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย