กรมควบคุมโรค เตือนอย่าชำแหละ กินเนื้อสัตว์ที่สงสัย หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้รีบแจ้งปศุสัตว์

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนอย่าชำแหละ และรับประทานเนื้อสัตว์ที่สงสัยหรือป่วยตายผิดปกติ เสี่ยงป่วยโรคพิษสุนัขบ้าและโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน หากพบเห็น ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง ให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

วันที่15 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ความเสี่ยงจากการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการถูกกัด ข่วนจากสัตว์เลี้ยง (สุนัข แมว) หรือ  การสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เช่น น้ำลายผ่านการเลีย จากเลือดที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เป็นต้น ปีนี้ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 15 ราย

จากที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับประชาชนชำแหละกระบือที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า มาประกอบอาหารและรับประทานนั้น กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่า ประชาชนที่ชำแหละเนื้อสัตว์ตัวดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านสารคัดหลั่งทั้งเลือดและน้ำลายของสัตว์ ส่วนกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ที่ปรุงประกอบอาหารหรือสัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ ผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ กรณีผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ต้องเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายจากโรคต่างๆ ไม่ใช่เพียงโรคพิษสุนัขบ้าสามารถก่อให้เกิดโรคในคนได้ อาทิ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis) โรคไข้หูดับ เป็นต้น จึงขอให้ประชาชนอย่านำสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายผิดปกติมาชำแหละ ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยเฉพาะการปรุงอาหารแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ และไม่ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัส สัตว์ตายโดยไม่สวมเครื่องป้องกัน

วิธีป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ที่ตายจากการติดเชื้อ คือ 1.หากพบสัตว์ตายหรือป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที  เพื่อดำเนินการวินิจฉัย และกำจัดอย่างถูกต้อง 2.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 3.หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน                4. หลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*************************************************

ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค