TILOG–LOGISTIX 2018 เวทีบูรณาการภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทย สร้างโอกาสเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ รี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงาน TILOG–LOGISTIX 2018 ระหว่างวันที่  29 – 31  สิงหาคม 2561  ณ ไบเทค กรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจการค้าโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน นำผู้แสดงสินค้าจำนวนกว่า 415  แบรนด์ จาก 25 ประเทศ จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นและบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเพิ่มองค์ความรู้ และสัมมนาระดับนานาชาติ คาดผู้เข้าชมงานกว่า 11,000 ราย เป้ามูลค่าเจรจาธุรกิจจากการจัดงานกว่า 600 ล้านบาท

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน TILOG–LOGISTIX 2018 ในวันพุธที่ 15 สิงหาคม 2561 เวลา 13.00-14.15 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ และในโอกาสนี้ได้กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ทั้งยังสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี  จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ โลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพสูง โดยกำหนดไว้ชัดเจนทั้งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2561 – 2564) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (2560-2564) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน และบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด จัดงาน TILOG-LOGISTIX 2018  เป็นครั้งที่ 4 แต่นับเป็นปีที่ 15 สำหรับงาน TILOG เพื่อให้เป็นกิจกรรมรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งยกระดับประสิทธิภาพและมาตรฐานการให้บริการโลจิสติกส์ให้เทียบเคียงกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ

“ผลจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้อันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Performance Index: LPI) ของธนาคารโลก ปี 2561 ไทยอยู่อันดับที่ 32 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นกว่าปี 2559 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 45”

นอกจากนี้ ในปีนี้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโดยใช้กระบวนการโลจิสติกส์เข้ามาบริหารจัดการ อาทิ การเก็บรักษา/ยืดอายุสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เพื่อรักษาคุณภาพจนถึงผู้ซื้อ ซึ่งจะสามารถขยายโอกาสและสร้างช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าอีกด้วย งาน TILOG-LOGISTIX 2018 จึงไม่เพียงแต่ยกระดับงานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงเครือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ทั้งไทยและในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก แสดงถึงศักยภาพของโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาค นางวรรณภรณ์ กล่าวเสริม

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง มุมมองต่อบทบาทธุรกิจโลจิสติกส์ว่า ธุรกิจโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับการค้าระหว่างประเทศได้  ด้วยคุณภาพบริการที่ดี  ต้นทุนที่เหมาะสมกับคุณภาพบริการ และการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมทั่วโลก นอกจากนี้ การขยายตัวของตลาด Cross Border e-Commerce ที่ต้องการบริการโลจิสติกส์สำหรับพัสดุขนาดเล็ก ที่ส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการจัดส่งแบบ door-to-door service ส่งผลให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต้องพัฒนาระบบภายในของตนเองให้เชื่อมโยงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล และป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ รวมถึงการจัดการข้อมูลที่รวดเร็วที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ต้องพัฒนาให้ทันตลาด e-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว  จึงจะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างชาติ และเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าของไทย สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก”

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ได้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทยว่า “จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทยฉบับที่ 3 ต้องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยมีดัชนีชีวัดความสำเร็จของการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน คือ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index- LPI) โดย World Bank ซึ่งในปีนี้ประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับที่ 32 จาก 160 ประเทศ และถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 7 ในเอเชีย สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2564 เท่ากับ 12% ซึ่งมีสัดส่วนลดลงตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ และประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นในปี 2564 จาก Trading Across (อันดับด้านการค้าระหว่างประเทศของธนาคารโลก) จากดัชนีชี้วัดดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าโลจิสติกส์ไทยมีทิศทางการเติบโตทีสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงสู่การค้าในระดับภูมิภาค”

นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยถึงการจัดงาน “TILOG – LOGISTIX 2018”  ว่า เป็นความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับงานให้เป็นเวทีที่แสดงการให้บริการ และเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์การค้าที่ครบวงจร สำหรับคนในวงการโลจิสติกส์และวงการอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องจากทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV โดยปีนี้ได้รวบรวมเทคโนโลยี โซลูชั่น และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ พิเศษในปีนี้กับบริการขนส่งข้ามแดน/โลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร/Cold Chain Logistics (โคลด์เชน)/โลจิสติกส์เพื่อ e-commerce สำหรับผู้นำเข้าและส่งออกที่กำลังมองหาบริการเพื่อขยายเส้นทางธุรกิจใหม่ โดยในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากคณะผู้แทนการค้าจากต่างประเทศเข้าร่วมงานและเจรจาธุรกิจกว่า 500 ราย อาทิ จากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย และกลุ่มประเทศ CLMV เป็นต้น”

“งาน TILOG-LOGISTIX 2018 ระหว่างวันที่ 29 – 31  สิงหาคม 2561 ณ ฮอลล์ 98 ไบเทค กรุงเทพ พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมครบครันด้านระบบโลจิสติกส์ การลำเลียง ระบบโกดัง โดยจะเลือกสรรเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เหมาะสมกับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์โลจิสติกส์ยุคดิจิตอล ยุค 4.0 และ Internet of Thing ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการอาทิ  ระบบการจัดเก็บสินค้าอัตโนมัติ (Automated racking System) รวดเร็วแม่นยำ ประหยัดพื้นที่ AGV Robot หุ่นยนต์ที่เข้าถึงพื้นที่ไร้ขีดจำกัด ระบบโซลูชันโลจิสติกส์แบบอินทิเกรตเพื่อการบริหารจัดการ Supply Chain เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ชั้นนำ อาทิ การขนส่งทั้งในและต่างประเทศ  ผู้ให้บริการคลังสินค้า ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตร รวมทั้งด้าน Cold Chain Logistics ก็เตรียมพร้อมที่นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านการเจรจาธุรกิจภายในงาน”

ภายในงานประกอบด้วยองค์ความรู้มากมายจากงานสัมมนาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ อาทิ Trade Logistics Symposium 2018 นำเสนอองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์เพื่อสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย World Transport & Logistics Forum Thailand (WTLFT) เผยดัชนี Logistics Performance Index (LPI) และบทวิเคราะห์เพื่อการพัฒนาภาคโลจิสติกส์ โดยธนาคารโลก (World Bank) และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิตัลไปกับองค์ความรู้ด้าน e-commerce ต่อผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์และผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศในอนาคต และประเด็นสัมมนาอื่นๆ กว่า 20 หัวข้อ รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น พบต้นแบบนวัตกรรมการบริหารจัดการคลังสินค้าแห่งอนาคต (Virtual Reality Advanced Distribution Centre) ที่โซน “Innovation Showcase” เรียนรู้จากแนวคิดและกลยุทธ์ของผู้นำวงการโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนามาตรฐานธุรกิจสู่ระดับสากล ณELMA Showcase” พบเคล็ดลับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายและขนส่งสินค้าเกษตร โดยใช้ประโยชน์โลจิสติกส์จากธุรกิจต้นแบบ พร้อมรับคำแนะนำโดยตรงที่ “Agri Logistics Value Chain Pavilion” เทคโนโลยีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์จากสตาร์ทอัพไทยที่ “Logistics Startup Pavilion” ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการโลจิสติกส์ ไม่ควรพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจ รองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

********************************

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ