นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และตุรกี โดยความสัมพันธ์ทางการเมืองของสองประเทศที่ผ่านมาไม่ค่อยราบรื่นนัก เมื่อรวมกับสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี ร้อยละ 50 และ 20 ตามลำดับ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นค่าเงินและเศรษฐกิจตุรกี ทำให้ค่าเงินตุรกีลดลงร้อยละ 45.0 เมื่อเทียบกับต้นปี และส่งผลให้ภาระการชำระหนี้ของตุรกีจะเพิ่มขึ้น โดยหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 70 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด หรือมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 52.6 ของ GDP) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการกู้ยืมจากธนาคารของยุโรป โดยเป็นธนาคารสเปนและฝรั่งเศส ประมาณ 8.2 และ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ และเป็นหนี้ต่างประเทศระยะสั้นภาคเอกชน (ครบกำหนดชำระหนี้น้อยกว่า 1 ปี) 9.8 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ความกังวลที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตุรกีมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการคลัง (twin deficit) ที่ร้อยละ 5.5 และ 3.1 ตามลำดับ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 11.1 และ 11.2 ในปี 2560 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าในปี 2561 GDP ตุรกีจะขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในปีก่อนหน้า
นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นสถานการณ์จะเพิ่มความไม่แน่นอนในตลาดเงินและตลาดทุนไทย ทำให้ค่าเงินอาจจะอ่อนค่าและตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับลดลงชั่วคราว สำหรับการส่งออกจากไทยไปตุรกีมีความเสี่ยงที่จะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจตุรกีมีแนวโน้มถดถอย และการอ่อนค่าเงินอย่างรุนแรงทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องทำให้ความต้องการนำเข้าลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยตุรกีจะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปี 2561 ที่ร้อยละ 8.0 นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวอาจส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากตุรกีลดลง แต่เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวตุรกีในไทยค่อนข้างน้อย จึงไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของไทย ส่วนกรณีที่ตุรกีมีความเป็นไปได้ที่จะใช้นโยบายควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Capital Control) ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย เนื่องจากไทยยังมีการลงทุนในตุรกีไม่มากนัก
ทั้งนี้ ประเทศตุรกีเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 33 มีมูลค่าการส่งออก ครึ่งปีแรก (มค.- มิย.) อยู่ที่ 644.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. (คิดเป็นร้อยละ 0.51 ของการส่งออกไทยทั้งหมด) และขยายตัวร้อยละ 4.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ประกอบด้วย รถยนต์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 113.63 หรือร้อยละ 17.6 ของการส่งออกทั้งหมดไปตุรกี) เครื่องปรับอากาศ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และตู้เย็น เป็นต้น
—————————————————-
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์