วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 เวลา 08.00-10.40 น. ดร. สุกันยาณี ยะวิญชาญ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ (หัวหน้าคณะผู้แทนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมจำวน 12 คน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 52 (ผ่านระบบ video conference ครั้งที่ 2) ณ ห้องประชุมมรกต ชั้น 2 อาคาร 50 ปีอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา หลังจากที่ได้เคยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ผ่านระบบ video conference ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 เรียบร้อยแล้ว
การประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 52 (ผ่านระบบ video conference ครั้งที่ 2) จัดขึ้นเพื่อทดแทนการจัดประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น (ประจำปี) สมัยที่ 52 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) โดยมีอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 52 และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นทำหน้าที่รองประธานคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 52
ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งวาระการประชุมที่สำคัญคือ การถอดถอนรายชื่อพายุที่สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศสมาชิกคณะกรรมการไต้ฝุ่น เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 51 (ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2562) ได้อนุมัติให้ถอดถอนชื่อพายุ จำนวน 2 ชื่อ ได้แก่ MANGKHUT (มังคุด) ของประเทศไทย และ RUMBIA (รุมเบีย) ของประเทศมาเลเซีย และที่ประชุมครั้งนี้ ได้อนุมัติชื่อ KRATHON (กระท้อน) ของประเทศไทย เพื่อทดแทนชื่อพายุ MANGKHUT (มังคุด) และอนุมัติชื่อ PULASAN (ของประเทศมาเลเซีย) เพื่อทดแทนชื่อพายุ RUMBIA (รุมเบีย) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะได้ดำเนินการให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภาถอดเสียงคำอ่านชื่อ PULASAN เป็นภาษาไทย ก่อนนำไปใช้งานและเผยแพร่ต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีมติถอดถอนรายชื่อพายุ 6 ชื่อ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่สมาชิกฯ เมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ดังนี้
1.HAGIBIS (ฮากีบิส) ตั้งชื่อโดยประเทศฟิลิปปินส์
2.FAXAI (ฟ้าใส) ตั้งชื่อโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3.PHANFONE (ฟานทอง) ตั้งชื่อโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)
4.KAMMURI (คัมมูริ) ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น)
5.LEKIMA (เลกีมา) ตั้งชื่อโดยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
6.YUTU (ยวี่ถู่) ตั้งชื่อโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกข้างต้นจะได้เสนอชื่อทดแทนชื่อพายุที่ถูกถอดถอนฯ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการไต้ฝุ่น สมัยที่ 53 ซึ่งจะจัดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2564 พิจารณาต่อไป