วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563 ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย โครงการ และประเด็นต่าง ๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ในการแถลงข่าวประจำเดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่
(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนพฤษภาคม 2563
(2) องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ปรับปรุงและเผยแพร่ประเภทพิกัดศุลกากร ในระดับ 6 หลัก สำหรับสินค้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 (3) กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อกรณีหลอกลวง ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนพฤษภาคม 2563
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้
ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน
สำหรับเดือนพฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรได้ทั้งสิ้น 1,704 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 62 ล้านบาท โดยสินค้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดที่สำคัญ ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กซ์ตาซี่ บุหรี่ ทั้งนี้ กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำความผิดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563 ทั้งสิ้น 17,573 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,364 ล้านบาท
ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 มีดังนี้
- ยาเสพติดให้โทษประเภทเอ็กซ์ตาซี่
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย จึงประสานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันเปิดตรวจพัสดุดังกล่าว จำนวน 6 หีบห่อ ต้นทางจากต่างประเทศ ผลการตรวจสอบพบเม็ดยาสีน้ำตาล ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (Ecstasy) จำนวนรวม 6,090 เม็ด บรรจุอยู่ในถุงฟลอยด์ ห่อกระดาษสีม่วง รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 4.9 ล้านบาท
- กัญชา
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรตรวจยึดพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จำนวน 3 หีบห่อ ผลการเปิดตรวจร่วมกับพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พบเป็นกัญชาแห้งบรรจุในถุงพลาสติก ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 น้ำหนักรวมทั้งสิ้นประมาณ 0.287 กิโลกรัม รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 57,400 บาท
- บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า
3.1 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจยึดบุหรี่ที่มีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรอย่างถูกต้อง ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวม 100,000 มวน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 423,000 บาท
3.2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจยึดบุหรี่มีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านศุลกากรอย่างถูกต้อง จากบริเวณพงหญ้าท้ายตลาดชายแดนบ้านแหลม
อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี รวม 60,000 มวน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 450,000 บาท
3.3 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจค้นสินค้า ณ บริษัท เอกชน
แห่งหนึ่ง ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผลการตรวจค้นพบเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 120 เครื่อง และหัวสูบบรรจุน้ำยา
บุหรี่ไฟฟ้า 3,300 ชิ้น รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 400,000 บาท
- กระเทียม
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรร่วมกับทหาร กกล.สุรศักดิ์มนตรี และหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องได้ทำการตรวจยึดกระเทียม จำนวน 1,308 กิโลกรัม ที่บ้านธาตุพนมเหนือ ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม
จ.นครพนม รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 33,500 บาท
- เนื้อกระบือแช่แข็ง
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ทำการตรวจค้นรถยนต์กระบะบรรทุก จำนวน 2 คัน พบเนื้อกระบือแช่แข็งบรรจุกล่องกระดาษ กล่องละ 20 กิโลกรัม จำนวนรวม 400 กล่อง น้ำหนักรวม 8,000 กิโลกรัม โดยไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร และหนังสืออนุญาตการขนย้ายเนื้อกระบือแช่แข็ง
ที่นำเข้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด ที่บริเวณใกล้ปั๊มน้ำมัน PT อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด และหน้าวิทยาลัยการอาชีพโพนทอง อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.2 ล้านบาท
- น้ำมันดีเซล
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรตรวจสอบรถบรรทุกน้ำมัน จำนวน 3 คัน บริเวณริมถนน ใน จ.นครศรีธรรมราช พบน้ำมันดีเซลรวมปริมาณ 16,800 ลิตร ซึ่งน้ำมันดังกล่าวเป็นน้ำมันที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศและไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 370,000 บาท
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจค้นอาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ในเขตบางบอน กรุงเทพฯ พบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอื่น ๆ เมืองกำเนิดต่างประเทศ และไม่มีหลักฐาน
การผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3.2 ล้านบาท
(2) องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ปรับปรุงและเผยแพร่การจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก สำหรับสินค้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ได้จัดทำและเผยแพร่รายการอ้างอิงในการจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 (HS Classification Reference for Covid 19 Medical Supplies) ทางเว็บไซต์ขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งรายการอ้างอิงฯ ดังกล่าว เป็นการจัดทำพิกัดศุลกากร ในระดับ 6 หลัก และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา องค์การศุลกากรโลกร่วมกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้จัดทำรายการอ้างอิงในการจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรสำหรับสินค้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ฉบับที่ 3 (HS Classification Reference for Covid 19 Medical Supplies 3rd Edition) ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงล่าสุด ทั้งนี้ กรมศุลกากร ได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวทางเว็ปไซต์ www.customs.go.th เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ ได้ใช้เป็นแนวทางในการจัดจำแนกประเภทสินค้า หรือเป็นข้อมูลในการแสดงพิกัด สำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว อนึ่ง การจำแนกประเภทพิกัดศุลกากรดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางการจำแนกสินค้า โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
(3) กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนโปรดอย่าหลงเชื่อกรณีหลอกลวง
กรมศุลกากรขอแจ้งเตือนประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากร ทำการลอกลวงผู้เสียหายในหลายกรณี อาทิ
- กรณีที่ชาวต่างชาติหรือบุคคลที่ทำความรู้จักกับผู้เสียหายผ่านทางสื่อออนไลน์ แจ้งว่า
ได้ส่งของขวัญหรือของมีค่าต่าง ๆ โดยขอให้ผู้เสียหายโอนเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากรสำหรับสิ่งของดังกล่าว หรือมีมิจฉาชีพแจ้งแก่ผู้เสียหายว่า มีพัสดุไปรษณีย์มาจากต่างประเทศแต่ติดปัญหาด้านภาษีกับ
กรมศุลกากร และให้ผู้เสียหายชำระเงินไม่เช่นนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่ยึดพัสดุดังกล่าว กรมศุลกากรจึงขอเตือนให้ท่านตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจก่อนการโอนเงิน - กรณีการลงเว็บไซต์ขายสินค้า อ้างว่าเป็นสินค้าจากกรมศุลกากร และให้โอนเงินมัดจำหรือนัดให้ไปชำระเงินส่วนที่เหลือเพื่อรับสินค้า กรมศุลกากรขอยืนยันว่า การจำหน่ายสินค้าของกลางกรมศุลกากร โดยวิธีที่ถูกต้อง จะเป็นการลงประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการ และจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร
โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น ไม่มีการเสนอขายทางระบบอินเตอร์เน็ต หรือผ่านบุคคลที่แอบอ้าง และไม่มีการให้โอนเงินค่าสินค้า หรือโอนเงินมัดจำเข้าบัญชีผู้ใดทั้งสิ้น - กรณีที่มีผู้ที่อ้างเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าโฆษณา
เพื่อจัดทำหนังสือ รายงาน วารสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของกรมศุลกากร พร้อมทั้งมีข้อความที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจผิดว่า กรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเหล่านั้น กรมศุลกากรขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายขอรับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในลักษณะดังกล่าว แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากท่านเกิดข้อสงสัยท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือศูนย์บริการศุลกากร website: ccc.customs.go.th หรือติดต่อด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยัง สำนักงานหรือด่านศุลกากรทุกแห่ง ในวันและเวลาราชการ
…………………………………………………………………………………………………………………………..