ปปง. ยึดอายัดทรัพย์คดีค้ามนุษย์ – ศุลกากร และฉ้อโกงบิทคอยน์เพิ่ม รวมกว่า 131 ล้านบาท

วันที่ 9 มิถุนายน 2563 พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกรรมในคราวประชุม ครั้งที่ 6/2563 ในวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 3 รายคดี ได้แก่

  1. รายคดี นางสุชาดา อุบลพิทักษ์ กับพวก ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หรือรับไว้เพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำ  การค้าประเวณี หรือที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

 พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางสุชาดา  อุบลพิทักษ์ หรือ เจ๊นุช กับพวก ร่วมกันลักลอบเปิดบริการค้าประเวณี ในสถานบริการ อาบ อบ นวด ชื่อ “ร้านธารทิพย์” ซึ่งมีนางจิตนา มังกรแก้ว หรือ เจ๊ใหญ่ เป็นเจ้าของและผู้ดูแลสถานบริการ อาบ อบ นวด ดังกล่าว โดยเจ๊นุชจะทำหน้าที่ต้อนรับและเชียร์แขกภายในร้านจากการเข้าจับกุมและตรวจค้นพบหญิงสาวสัญชาติไทย, เมียนมาร์, ลาว, และบุคคลพื้นที่สูง รวมทั้งสิ้นจำนวน 32 คน ทำงานค้าประเวณี จึงได้จับกุมนางสุชาดา อุบลพิทักษ์ และนางกนิษฐา หาริชัย โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือพาไปซึ่งบุคคลใด เพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และร่วมกันรับบุคคลต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่มีลักษณะเงื่อนไข การทำงานที่แตกต่างออกไปจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต และจากการตรวจสอบในภายหลังพบว่ามีหญิงสาว ที่ค้าประเวณี 1 คน อายุเพียง 17 ปี จึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 13 ราย ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และส่งเรื่องให้สำนักงาน ปปง. เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด

มติคณะกรรมการธุรกรรมโดยย่อ : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 1 รายการ พร้อมดอกผล (ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 49,776,000 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

  1. รายคดี นายปริญญา จารวิจิต กับพวก ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับ การฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นายปริญญา จารวิจิต กับพวก ได้ร่วมกันวางแผนและสมคบหลอกลวงโดยชักชวนให้นายอาร์นี โอทาวา ซาริมา ชาวฟินแลนด์ (Mr.Aarni Otava Saarimaa) ร่วมลงทุนซื้อหุ้นกับบริษัท Expay Software จำกัด และ Nx Chain Inc ในการประกอบธุรกิจซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลในชื่อดราก้อน คอยน์ (Dragon Coin : DRG) และหุ้นของบริษัท ดีเอสเอ 2002 จำกัด (มหาชน) โดยอ้างว่าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นเหตุให้นายอาร์นีฯ หลงเชื่อลงชื่อในสัญญาที่นายปริญญาฯ จัดทำขึ้น และโอนเหรียญบิตคอยน์ซึ่งเป็นเงินดิจิตอลเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กลุ่มนายปริญญาฯ เปิดรองรับไว้รวม 19 ครั้ง คิดเป็นเงินไทย 797 ล้านบาท แต่นายอาร์นีฯ ไม่ได้รับหุ้นครบตามสัญญาและไม่มีการนำเงินไปลงทุนในหุ้นจริง จึงทราบว่าถูกนายปริญญาฯ กับพวกหลอกลวง ซึ่งนายปริญญาฯ ได้นำเงินไปรับซื้อฝากที่ดินและซื้อที่ดินหลายแปลงในชื่อของตนและพวก

มติคณะกรรมการธุรกรรมโดยย่อ : เห็นชอบให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ของ นายปริญญา จารวิจิต กับพวก (เพิ่มเติม) จำนวน 13 รายการ พร้อมดอกผล (เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร, หน่วยลงทุนกองทุนเปิด, เช็คธนาคาร, ที่ดิน) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 43,278,760.70 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ในรายคดีนี้ คณะกรรมการธุรกรรมในคราวประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (บัญชีเงินฝากธนาคาร, ที่ดิน) จำนวน 64 รายการรวมมูลค่าประมาณ 210 ล้านบาท

  1. รายคดี นางไหมดี แก้ววงสา กับพวก ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับลักลอบหนีศุลกากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 3 (7) และความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางไหมดี แก้ววงสา กับพวก ลักลอบนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจากการตรวจค้นพบธนบัตรไทยเก็บไว้ในช่องลับของเบาะหลังรถยนต์จำนวน 28 ล้านบาท และพบธนบัตรซุกซ่อนไว้หลังช่องลับของตู้ลำโพงในกระโปรงหลังรถ อีกจำนวน 10 ล้านบาท รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 38 ล้านบาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้ต้องหาได้จากการทำธุรกิจขายสินค้าประเภทของสด ของแห้ง รวมทั้งธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ในนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยได้เก็บสะสมมาระยะหนึ่ง แล้วผู้ต้องหาจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อนำเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐเข้ามาแลกเปลี่ยน ในประเทศไทยเป็นเงินธนบัตรไทย และรวบรวมนำเงินทั้งหมดกลับไป สปป.ลาว เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจแลกเปลี่ยนของตนโดยไม่ได้ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย

มติคณะกรรมการธุรกรรมโดยย่อ : เห็นชอบให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 1 รายการ พร้อมดอกผล (เงินสด) รวมมูลค่า 38,000,000 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน

พลตำรวจตรี ปรีชาฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผล เพื่อยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มข้นและเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและเพื่อความสงบสุข ความมั่นคงของประเทศชาติต่อไป ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้น ต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน” ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด สามารถโทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1710

……………………………………………………………………………………………………