พม. ร่วมแลกเปลี่ยนการรับมือโรคโควิด-19 ของไทย มิติสตรีและเด็ก ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

วันที่ 9 มิ.ย. 63 เวลา 09.30 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้มอบหมายให้ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีทางออนไลน์ ในหัวข้อ การฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของ
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ : ประสบการณ์จากเอเชียและแปซิฟิก (Towards Gender-Responsive COVID-19 Recovery: Experiences from Asia and the Pacific Virtual Ministerial Roundtable on Integrating Gender Equality into Socio-Economic Policy Responses) จัดโดยองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN WOMEN) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นมุมมองมิติความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีระหว่างการรับมือโรคโควิด-19 และประเด็นสำคัญเร่งด่วนในการดำเนินการฟื้นฟูของรัฐบาล รวมถึงบทบาทของ
องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวง เพื่อรับประกันความต้องการของสตรีและเด็กผู้หญิงจะได้รับการตอบสนอง

นายปรเมธี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ตนได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) และการปิดประเทศ หรือ Lock Down ในเชิงเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อผู้หญิง โดยเฉพาะประสบการณ์การดำเนินงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำหรับการรับมือโรคโควิด-19 การให้เงินช่วยเหลือเยียวยาแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ การตั้งศูนย์ปรึกษาเรื่องเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด การเผยแพร่ข้อมูลการปฏิบัติในการดูแลครอบครัว การรับแจ้งและเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การให้บริการเพื่อลดภาระและแก้ไขปัญหาในครอบครัวในช่วงโรงเรียนปิด การจัดทีม One Home พม. ลงพื้นที่ชุมชนเปราะบาง เพื่อสำรวจปัญหาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

อย่างไรก็ดี แม้ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 แต่นับเป็นกลุ่มที่มีพลังในการช่วยเหลือสังคม โดยในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวและกลุ่มสตรีอาสาสมัคร ได้ร่วมกันทำหน้ากากอนามัยแบบผ้า เพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายและประชาชนผู้เดือดร้อนที่ขาดแคลน

นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมการสำหรับผู้หญิงในช่วงหลังการคลาย Lock Down นั้น จะจัดให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงกลับไปทำงานใหม่ได้ และการปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เนื่องจากสังคมแวดล้อมต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งที่ทำงานและโรงเรียน การใช้ชีวิตประจำวันผ่านการสื่อสารออนไลน์ อีกทั้งสถานการณ์ของ
หนี้สาธารณะจะสูงขึ้น ในขณะที่งบประมาณจะน้อยลง กระทรวง พม. จะมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับกลุ่มสตรี โดยการจัดทำ Gender Responsive Budgeting (GRB) ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวง พม. จะมีความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

………………………………………………………………………………………………………………………………