กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรม เตือนไม่ควรขูดหินปูนด้วยตนเอง เสี่ยงสูญเสียฟัน ทำลายผิวฟันหรือเหงือกจนเกิดอันตราย ควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คราบหินปูน เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ ฟันผุ ฟันโยก ฟันห่าง หรือร้ายแรงกว่านั้น อาจทำให้เราสูญเสียฟันได้ คราบหินปูน มีลักษณะแข็งเกาะตามผิวฟันและซอกฟัน บางคนอาจซื้ออุปกรณ์ที่ระบุว่าสามารถช่วยขูดหินปูนได้ด้วยตนเอง นำมาลองใช้เองที่บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการไปพบทันตแพทย์ ซึ่งความจริงแล้ว การขูดหินปูนไม่ควรทำด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดก็ตาม เพราะอาจพลาดไปทำลายผิวฟันหรือเหงือก และอวัยวะอื่นๆในช่องปากจนเกิดอันตราย รวมถึงอุปกรณ์ไม่สะอาดเพียงพอ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ การขูดหินปูนต้องใช้เครื่องมือทางทันตกรรมที่ออกแบบมาและผ่านการฆ่าเชื้อตามวิธีมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อการขูดหินปูนโดยเฉพาะ ดังนั้น ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนและตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คราบหินปูน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หินน้ำลาย” เกิดจากคราบจุลินทรีย์สะสมและจับกับเชื้อโรคจนกระทั่งตกตะกอนกลายเป็นของแข็งเกาะอยู่บนผิวฟัน ซอกเหงือก ซอกฟัน และขอบฟัน โดยปัญหาที่เกิดจากคราบหินปูน ได้แก่ เลือดออกขณะแปรงฟัน ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น โรคปริทันต์ ฟันห่าง และเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันหลายประการ คราบหินปูนมีลักษณะเป็นของแข็งไม่สามารถนำออกเองได้ ต้องให้ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนออกไป ซึ่งขั้นตอนการขูดหินปูนโดยทันตแพทย์ไม่ยุ่งยาก และไม่ทำให้ฟันสึกกร่อน โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขจัดหินปูนแบบที่มีแรงสั่นสะเทือนความถี่สูง ทำให้หินปูนหลุดออก ร่วมกับการใช้เครื่องมือชิ้นเล็กขูดหินปูนโดยละเอียดอีกครั้ง จากนั้นจะทำความสะอาดช่องปากและเคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ อย่างไรก็ตามควรดูแลรักษาฟันด้วยตนเองเป็นกิจวัตรเพื่อลดการสะสมของคราบหินปูน โดยการแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น หรือหลังรับประทานอาหาร เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ หลีกเลี่ยงการรับประทานขนมจุบจิบและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน รวมทั้งพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง
………………………………………………………………………