“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 1,630 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 25-34 ปี (19.45 %) 35-44 ปี (18.53 %) และ 45-54 ปี (16.26 %) ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ โดยจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครราชสีมา และพิษณุโลก”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น จากการที่มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่มีการระบาดยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีการแพร่กระจายของโรคไปยังจังหวัดอื่นจากผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย การป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่ดีที่สุด คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุงและกำจัดยุงในบ้าน เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคสามารถพบได้ทุกจังหวัด ดังนั้นหากพบผู้ที่มีอาการ ไข้ ปวดข้อหรือมีผื่น ควรแจ้งต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 มิ.ย. 2563