สค.ชี้ การคุกคามทางเพศคือความรุนแรงในสังคม วอนทุกภาคส่วน ไม่ยอมรับ ไม่กระทำ ไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำความรุนแรงทุกรูปแบบ

วันที่ 5 มิถุนายน 2563 นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในสังคม ประกอบกับการนำเสนอภาพข้อมูล ข่าวสาร และเหตุการณ์ที่มีลักษณะการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศเป็นการกระทำซ้ำ ทั้งยังสามารถลุกลามไปสู่การข่มขืนได้

นางสาวอุษณี กล่าวว่า ในปัจจุบัน ข้อมูลข่าวสารการกระทำความรุนแรง การคุกคามทางเพศ รวมไปถึงคดีการข่มขืนต่างๆ ถูกนำเสนอในสังคมเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น สถิติความรุนแรงในครอบครัวเดือนพฤษภาคม 2563 มีจำนวนความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้น 184 ราย ผู้กระทำความรุนแรง 85.3% เป็นเพศชาย สถานที่เกิดเหตุ 78.3% เกิดที่บ้านตนเอง และ 87% เป็นการทำร้ายร่างกาย (ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการ สค.)

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อว่าผู้ที่มีอำนาจมากกว่า มีสิทธิที่จะทำความรุนแรงต่อผู้ด้อยกว่าได้ หรือที่เรียกว่า แนวคิด ชายเป็นใหญ่ การจะป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องสร้างความตระหนัก การสร้างความรู้ความเข้าใจ การกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

นางสาวอุษณี กล่าวต่อไปว่า การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ หมายถึง การกระทำหรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่เป็นการบังคับ การใช้อำนาจด้วยวาจา ข้อความ ท่าทาง เสียง รูปภาพ เอกสาร หรือข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งผลให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ได้รับความอับอาย หรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม รวมถึงการติดตามรังควานหรือการกระทำใดที่ก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดภัยทางเพศ ทางการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างขวาง ซึ่งไม่สามารถระบุพฤติกรรมได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด อย่างไรก็ตามให้ตระหนักว่า การกระทำเกี่ยวกับเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่ต้องการและมีความเดือดร้อนรำคาญ อึดอัด อับอาย ดูถูกเหยียดหยาม ถือว่าเข้าข่ายการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ อาทิ

1.การกระทำทางสายตา เช่น การจ้องมองร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ มองหน้าอกหรือจ้องลงไปที่คอเสื้อ จนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด อับอาย หรือไม่สบายใจ เป็นต้น

2.การกระทำด้วยวาจา เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่าง ทรวดทรง การแต่งกายที่ส่อไปทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำ ไม่พึงประสงค์และไม่ต้องการการพูดเรื่องตลกเกี่ยวกับเพศ การพูดจาแทะโลม การพูดจาลามก รวมถึงการโทรศัพท์ลามก

3.การกระทำทางกาย เช่น การสัมผัสร่างกายของผู้อื่น การลูบคลำ การฉวยโอกาสกอดรัด จูบ การหยอกล้อโดยแตะเนื้อต้องตัว การสัมผัสทางกายอื่นใดที่ไม่น่าพึงประสงค์ รวมถึงการตามตื้อโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เล่นด้วย

4.การกระทำที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น ผลการเรียน การเลื่อนตำแหน่ง หากผู้ถูกล่วงละเมิด หรือ ผู้ถูกคุกคามยอมมีเพศสัมพันธ์ หรือการข่มขู่ให้เกิดผลลบต่อการจ้างงาน

5.การกระทำอื่น ๆ เช่น การแสดงรูปภาพ วัตถุ และข้อความที่เกี่ยวข้องกับเพศ ในที่ทำงานและในคอมพิวเตอร์ของตน หรือ การโชว์ปฏิทินโป๊ การเขียนหรือวาดภาพทางเพศในที่สาธารณะ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงเรื่องเพศทางอินเทอร์เน็ต เช่น facebook Line ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรกระทำเมื่อถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ให้แสดงออกทันทีว่าไม่พอใจ และถอยห่างจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศนั้น ส่งเสียงร้องเพื่อให้ผู้กระทำหยุดการกระทำ และเรียกผู้อื่นให้ช่วย หรือหากทำได้ให้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการบันทึกเสียง หรือ ถ่าย Video Clip หรือ บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นลายลักษณ์อักษรทันทีที่เหตุการณ์เกิดขึ้น โดยจดบันทึกวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ คำบรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชื่อของพยานและ/หรือบุคคลที่สามซึ่งถูกกล่าวถึง หรืออยู่ในเหตุการณ์ แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นให้บุคคลที่ไว้ใจทราบทันที และในกรณีผู้ถูกกระทำอาย/กลัว อาจให้เพื่อนมาแจ้งแทน แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกระทำ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะที่กำกับดูแล และขับเคลื่อน พ.ร.บ. ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ยอมรับ ไม่กระทำ และไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในสังคม หากท่านพบเห็นปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรมาขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย

………………………………………………………………………………