วว. เจ๋งวิจัยบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย ยกระดับมาตรฐานลำไยไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) วิจัยพัฒนา “บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย” เพื่อใช้ติดตามปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ฯ ซึ่งตกค้างบนผลลำไย เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ยกระดับมาตรฐานลำไยไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลักการทำงานของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะฯ เมื่อทำปฏิกิริยากับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะเปลี่ยนสีให้ผู้บริโภคเห็นอย่างเด่นชัด เมื่อมีปริมาณซัลเฟอร์ฯ เกินมาตรฐาน นับเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากปัญหาลำไยสดที่ผ่านการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณสูงเกินความจำเป็น และการละเลยขั้นตอนการลดหรือกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ส่วนเกิน ส่งผลให้มีสารดังกล่าวตกค้างบนผลลำไยสูงเกินค่ามาตรฐาน ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลลำไยสดที่จะส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ105 ง กำหนดปริมาณสูงสุดของสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยทั้งผลควรมีไม่เกิน 350 ppm และตกค้างที่เนื้อลำไยควรมีไม่เกิน 30 ppm ค่าการบริโภคในแต่ละวันที่ได้รับ (Aceptable Daily Intake : ADI) ของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม/คน/วัน และพบว่าพิษของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปริมาณ 8 ppm จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองของระบบหายใจ ที่ปริมาณ 20 ppm จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ถ้ารับประทานเข้าไปไม่มาก ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้ามากเกินไปจะมีผลไปลดประสิทธิภาพการใช้โปรตีน และไขมันในร่างกายของคนเราและมีฤทธิ์ทำลายวิตามิน B1 ด้วย อีกทั้งเมื่อส่งไปถึงประเทศผู้ซื้อปลายทางและมีการตรวจพบจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคุณภาพลำไยรวมถึงผลผลิตเกษตรชนิดอื่นจากประเทศไทย

“… จากปัญหาดังกล่าว วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย จึงมีแนวคิดพัฒนาบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไย เพื่อตรวจสอบปริมาณสารซัลเฟอร์ที่เหลือตกค้างที่ผิวผลลำไย เพื่อยกระดับมาตรฐานลำไยไทยให้เป็นที่ยอมรับ การบ่งชี้ปริมาณสารซัลเฟอร์ที่ผลลำไย นอกจากผู้บริโภคจะรับรู้ถึงความปลอดภัยในการรับประทานแล้ว ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายยังสามารถใช้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะฯ ในการสร้างตลาด สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง โดยผลิตผลไม้คุณภาพ ที่มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหรือรับรองคุณภาพผลิตผล ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ และอาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอันเป็นกลไกสำคัญของตลาด

โดย วว. ได้พัฒนาเป็นฉลากเปลี่ยนสีเมื่อทำปฏิกิริยากับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นอกจากนี้ฉลากฯ ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลไม้อื่นๆ ที่มีการใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์รักษาคุณภาพของผลผลิต เช่น ลิ้นจี่ เป็นต้น เพื่อใช้เตือนผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ให้จำหน่ายและบริโภคผลไม้ที่มีปริมาณซัลเฟอร์ฯ ที่สูงเกินมาตรฐานกำหนด ผลงานวิจัยนี้ของ วว. จะมีประโยชน์ต่อการสร้างมาตรฐานคุณภาพของลำไยทั้งที่จำหน่ายในประเทศและส่งออก นอกจากเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า เพื่อความยั่งยืนในการทำการค้ากันต่อไป” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.รัชนีวรรณ กุลจันทร์ ผู้อำนวยการ ห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. กล่าวถึงหลักการทำงานของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะบ่งชี้ความปลอดภัยปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยว่า ฉลากจะมีการเปลี่ยนสีดังนี้ หากมีปริมาณสารซัลเฟอร์ฯ ต่ำ ฉลากจะยังคงสีน้ำตาลเข้ม แต่ถ้ามีปริมาณสารซัลเฟอร์ฯ มากสีของฉลากจะค่อยๆ จางลงจนไม่มีสีแสดงว่ามีสารซัลเฟอร์ฯ เกินมาตรฐานกำหนด นับเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย ช่วยเตือนผู้บริโภคก่อนที่จะตัดสินใจบริโภคลำไย อีกทั้งการเปลี่ยนสีของฉลากยังง่ายต่อการเข้าใจของคนทุกระดับ

ทั้งนี้ผลงานวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาฉลากบ่งชี้คุณภาพซึ่งสามารถแสดงปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างที่ผิวลำไย การวิจัยและพัฒนาฉลากบ่งชี้คุณภาพที่สัมพันธ์กับปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรจุภัณฑ์ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภคในต่างประเทศ ทั้งนี้การพัฒนาฉลากของ วว. ยังเป็นการพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการ หากต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต้องปรับปรุงสูตรและกระบวนการผลิตให้สอดคล้องเหมาะสมกับเครื่องจักรที่จะใช้ผลิตต่อไป

การพัฒนาฉลากประกอบด้วย

1. การพัฒนาสูตร เป็นการศึกษาชนิดสารเคมีที่สามารถทำปฏิกิริยากับสารซัลเฟอร์และศึกษาความไวในการตอบสนองต่อสารซัลเฟอร์

2. การเตรียมสารละลายสำหรับขึ้นรูปฟิล์ม

3. การขึ้นรูปฉลาก เป็นการหาอัตราส่วนผสมของสารเคมีกับสารละลายสำหรับขึ้นรูปฟิล์มแล้วทำการขึ้นรูปฉลาก

4. การทดสอบการใช้งานของฉลาก

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) วว. เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์แห่งชาติ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ และงานบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของทุกภาคส่วน สนใจขอรับบริการโปรดติดต่อได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. (บางเขน) เลขที่ 196 ถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 2579 1121 ต่อ 3205, 3208, 081 702 8377 E-mail : TPC-tistr@tistr.or.th