นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. และทุกหน่วยงานเตรียมเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้านการเกษตร จากผลกระทบการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อขอใช้เงินกู้วงเงิน 4 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานได้เตรียมโครงการฟื้นฟูด้านต่าง ๆ ประกอบด้วยกรอบการทำงาน 4 ด้าน คือ 1) เพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต 2) เศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน 3) กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน และ 4) สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมด้านการเกษตร โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานคืนถิ่น สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) ในชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบ Area-based Approach ด้วยการบูรณาการทำงานของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งโครงการที่เป็น Function-based เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมชี้แจงแนวทางการเสนอโครงการภายใต้กรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้านเกษตร แก่ผู้บริหารส่วนกลาง และชี้แจงผ่านระบบทางไกล (Web Conference) กับหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องตามกรอบการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3 กรอบ คือ กรอบการทำงานที่ 1 ด้านเพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 2) โครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และ 3) โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการยกระดับศักยภาพการผลิต พัฒนาต่อยอดโครงการที่มีอยู่แล้ว โดยมีกระบวนการทำงานให้เกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพในการพัฒนาและเสนอกิจกรรมที่ต้องการดำเนินการตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม โดยจะจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนไปที่กลุ่มของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน เช่น แปลงใหญ่ ในการวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการ เกษตรกรต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนในการผลิต ต้องคำนึงถึงหลักการตลาดนำการผลิต คิดตลอด ห่วงโซ่ ตลาดต้องการอะไร คุณภาพอย่างไร จะผลิตให้ได้ตามคุณภาพนั้นจะต้องทำอย่างไร ใช้ปัจจัยอะไรบ้าง และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนอย่างไร เป็นต้น ทำให้ได้โครงการที่เป็นไปตามศักยภาพและความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง ส่วนศูนย์ข้าวชุมชนเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิต โดยสนับสนุนให้ศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี กระจายให้ทั่วถึงในระดับพื้นที่ ลักษณะการดำเนินงานเป็นการวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการเช่นเดียวกับแปลงใหญ่ โดยโครงการแปลงใหญ่และโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก และศูนย์ข้าวชุมชนกรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลัก
ในส่วนของโครงการตามกรอบที่ 2 ด้านเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร และเกษตรอินทรีย์ ในการสร้างความมั่นคงอาหารระดับชุมชน ลดรายจ่าย มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายหน่วยงานระดับพื้นที่ดำเนินการร่วมกับจังหวัด สำหรับกรอบการทำงานที่ 4 สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตจะเป็นการดำเนินงานตาม Function ของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการทำงานที่ 1 และ 2 ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ แหล่งกักเก็บน้ำและระบบชลประทาน 2) โครงการการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน 3) โครงการผลิตพันธุ์ดี (เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ กิ่งพันธุ์ เนื้อเยื่อ พันธุ์ปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ) 4) โครงการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และ 5) โครงการ Big Data ด้านการเกษตร เพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจการเกษตรต่อผลกระทบไวรัสโควิด-19 รองรับพฤติกรรม New Normal และฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งดำเนินการผลักดันแผนงาน/โครงการให้นำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด โดยหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องเสนอกรอบโครงการ (Project Idea) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงให้เป็นโครงการที่สมบูรณ์ส่งให้ สศก. เพื่อจัดทำภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอ สศช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร