มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ โดยมอบหมายให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อน
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สทอภ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีดาวเทียมที่ใช้งานในปัจจุบันและที่หมดอายุการใช้งานแล้วไม่น้อยกว่า 11 ดวง และมีแผนจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในช่วงระยะเวลา 3-5 ปี อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม Royal Thai Air Force 1 – 2 (RTAF sat) ดาวเทียมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCC Sat) และดาวเทียมในโครงการ THEOS-2 จำนวน 2 ดวง รวมถึงดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำอื่นๆ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการอวกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักสากล รวมถึงสอดคล้องกับมติประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติที่ร้องขอให้รัฐที่ปล่อยวัตถุขึ้นสู่อวกาศนำส่งข้อมูลของวัตถุนั้นโดยทันทีให้แก่คณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศในทางสันติ (Committee on the Peaceful Uses of Outer Space: COPUOS) ผ่านสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs: UNOOSA) ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องมีแนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศ สทอภ.ในฐานะหน่วยประสานงานกับ COPUOS จึงได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติซึ่งได้เห็นชอบไปแล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันนี้
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประเทศไทยได้มีแนวปฏิบัติในการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศสำหรับใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายอวกาศและหน่วยงานที่ดูแลการรับจดแจ้งดังกล่าว
………………………………………………