โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน ประกาศรางวัล 4 สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกสู่การสนับสนุนระยะขยายผล ประจำปี 2562 เน้นความโดดเด่นด้านพัฒนาการและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ภายใต้มูลนิธิบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือก 4 สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน ที่ได้รับการคัดเลือกสู่การสนับสนุนระยะขยายผล ประจำปี 2562 ประกอบด้วย สว่านเจาะดินนิวบอร์น จ.ลพบุรี, เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์ จ.ลำปาง, เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก จ.ลำพูน, และเรือรดน้ำอัตโนมัติ จ.นครปฐม โดยเตรียมลงพื้นที่เพื่อมอบประกาศนียบัตรและรางวัลเงินสนับสนุนให้กับช่างชุมชนทั้ง 4 ผลงาน มูลค่ารวม 400,000 บาท
ดร. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช.การช่าง ขอแสดงความยินดีกับเจ้าของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทั้ง 4 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน” ที่ได้นำข้อเสนอแนะต่างๆไปปรับปรุงทั้งในเรื่องเทคนิคและวิศวกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนช่องทางการตลาด ซึ่งล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของคนไทยในชุมชนต่างๆทั่วประเทศที่มีทั้งศักยภาพ และมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอดขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น ช.การช่าง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน มุ่งมั่นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของตนเองต่อไปเพื่อให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตดูแลชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ผลงานทั้ง 4 ที่ได้รับคัดเลือกพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นมีทักษะในด้านการประดิษฐ์คิดค้นด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่นแต่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดกลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้าง”
โดยนวัตกรรมช่างชุมชนทั้ง 4 ผลงาน ได้ผ่านการคัดเลือกเพื่อรับทุนสนับสนุนเบื้องต้น พร้อมกับเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมและพบที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาทักษะแบบ 4 มิติ ได้แก่ ทักษะด้านเทคนิควิศวกรรม, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การตลาดและการบริหารจัดการต้นทุนราคา หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างเข้มข้นเป็นเวลาสองวัน ช่างชุมชนแต่ละคนได้กลับไปพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมของตนเองจนเป็นที่ประจักษ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในด้านประสิทธิภาพการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ ความสะดวกในการใช้งานเพิ่มขึ้น ต้นทุนและราคาที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย และการขยายผลผ่านการจัดจำหน่ายสู่ชุมชนในช่องทางต่างๆ หรือถ่ายทอดความรู้ในเชิงสาธารณะประโยชน์สู่สังคม สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนวัตกรรมที่คิดค้นจากคนในชุมชนฐานรากแต่สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมได้อย่างกว้างขวาง
- เครื่องเจาะดินนิวบอร์น โดยนายปรีชา บุญส่งศรี จ.ลพบุรี จากสว่านเจาะดินขุดหลุมปลูกต้นไม้ติดตั้งบนล้อลากที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายและเพิ่มความปลอดภัยขณะใช้งานโดยมีกำลังเครื่องยนต์และราคาที่หลากหลายตามความเหมาะสมกับการใช้งานของเกษตรกรแต่ละคนปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นเครื่องเจาะเสาเข็มขนาดเล็กสำหรับงานก่อสร้างเหมาะกับการใช้งานของช่างชาวบ้านหรือผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยพร้อมทั้งเตรียมจัดทำเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ และเตรียมขยายช่องทางการจำหน่ายบนร้านค้าออนไลน์ของ Shopee และ Lazada
- เรือรดน้ำอัตโนมัติ โดยนายสายธาร ม่วงโพธิ์เงิน จ.นครปฐม จากเรือรดน้ำควบคุมการทำงานอัตโนมัติใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เหมาะกับพื้นที่การเกษตรแบบร่องสวนในภาคกลางเรือจะแล่นไปบนผิวน้ำช้าๆ และพ่นน้ำเพื่อรดพืชสวนจนกว่าจะครบรอบตามที่กำหนดปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดเป็นเรือรดน้ำที่พ่นน้ำได้ทั้งสองด้านใช้เซนเซอร์ในการรักษาระยะให้อยู่ห่างจากฝั่งสามารถตั้งเวลาและจำนวนรอบในการทำงานได้ ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ และลดมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงหรือกระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำ เพิ่มบริการให้เช่าในการใช้งาน และสร้างเฟซบุ้คเพจของตนเอง
- เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก โดยนายสุรเดช ภูมิชัย-กลุ่มสัมมาชีพบ้านท่าช้าง จ.ลำพูน จากจุดประสงค์เดิมที่ต้องการลดหมอกควันจากการเผาใบลำไยและใบมะม่วงที่เกษตรกรตัดแต่งภายในสวนโดยให้เกษตรกรนำใบไม้เหล่านั้นมาแลกเป็นปุ๋ยหมักและดินปลูกที่ได้จากการใช้งานเครื่องบดผสมฯได้พัฒนาเพิ่มอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยและเพิ่มระบบบดต้นกล้วยสำหรับทำเป็นอาหารสัตว์หรือทำน้ำหมักชีวภาพซึ่งทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นเพิ่มรายได้จากผลผลิตที่ดีขึ้น และลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการเผาใบไม้และช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับชุมชน ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุงเครื่องต้นแบบเพื่อเตรียมจำหน่ายต่อไป
- เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์ โดยนายกฤษณะ สิทธิหาญ จ.ลำปาง จากเดิมสร้างขึ้นจากความต้องการที่จะลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการตัดหญ้าภายในไร่สับปะรดอินทรีย์จึงประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และมีแบตเตอรี่สำรองที่ช่วยให้สามารถใช้งานต่อไปได้แม้จะไม่มีแสงอาทิตย์ในบางช่วงเวลาเหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่บ้านพักอาศัยและได้พัฒนาเครื่องตัดหญ้าแบตเตอรี่ไฟฟ้าแบบสะพายหลังสำหรับการใช้งานในพื้นที่เกษตรกรรม มีการจำหน่ายออนไลน์บนเฟซบุ้คเพจ “ไร่ช่างเอก สับปะรดวิถีอินทรีย์” โดยมีโรงงานเอกชนมาเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่าย
สำหรับอีก 6 ผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลประกอบด้วยตะบันน้ำถังแก๊สมือสอง, รถไถนั่งขับอีลุย, เครื่องอูดรมควันต้านยุง, จักรยานปีนต้นมะพร้าว, กาลักน้ำประปาภูเขา,และของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว สามารถจัดทำข้อเสนอเพื่อขอทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไปได้โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีทุน 300,000 บาท เพื่อพัฒนาแนวคิดให้สมบูรณ์หรือหากพร้อมที่จะทำธุรกิจต่อยอดจะมีทุน 1,500,000 บาท โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือติดต่อผ่านทางทีมงานของโครงการนวัตกรรมช่างชุมชน เพื่อช่วยให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา