กรมควบคุมโรค เตือนในช่วงหน้าฝนนี้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากการเก็บหรือซื้อเห็ดป่ามารับประทาน อาจเป็นเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนในช่วงหน้าฝนนี้ มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนจึงเริ่มเข้าป่าเพื่อเก็บเห็ดมาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งเห็ดที่เก็บมาอาจเป็นเห็ดพิษ เมื่อรับประทานเข้าไปอาจเป็นอันตรายและเสี่ยงเสียชีวิตได้ แนะหากไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร

วันที่ 2 มิถุนายน 2563 นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งหลังจากฝนตกประมาณ 2 วัน จะมีการเจริญเติบโตของเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนมักนิยมเก็บเห็ดป่ามาขายหรือนำมาปรุงอาหาร ซึ่งในแต่ละปีจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ โดยข้อมูลจากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วย 85 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอายุ 45-54 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป และ 25-34 ปี ตามลำดับ

เห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน ที่สามารถรับประทานได้ แต่แตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ทั้งนี้  ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้าย ที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อ ความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจทำให้ เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนหากไม่แน่ใจว่าเห็ดที่เก็บมาเป็นเห็ดพิษหรือเป็นเห็ดที่รับประทานได้ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหารรับประทาน ควรเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า หรือเห็ดฟาง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422


ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 2 มิถุนายน 2563