กยท. จัดพิธีรับมอบคู่มือ FSC เล่มแรกในไทย พร้อมส่งไม้ต่อสู่เกษตรกร เตรียมเพิ่มเป้าขยายสวนยางมาตรฐาน FSC ทั่วประเทศ

วันที่ 2 มิ.ย. 63 กยท. จัดพิธีรับมอบ “คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย” คู่มือเล่มแรกในไทย จาก สกสว. และ ภาควิชาการจัดการป่าไม้ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อส่งไม้ต่อชาวสวนยาง เน้น ยกระดับมาตรฐานสวนยางทั้งประเทศ ณ ห้องประชุมรัษฎา อาคาร 2 ชั้น 2 การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มองว่าในอนาคตทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตจากผลผลิตของสวนยางพาราทั้งไม้และน้ำยางพาราที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล เช่น ต้องมีการจัดการที่ดี ถูกกฎหมาย หรือ ไม่บุกรุกป่าธรรมชาติ เป็นต้น กลุ่มองค์กรเอกชนทั่วโลกจึงได้จัดตั้งองค์กร FSC : Forest Stewardship Council เพื่อกำหนดมาตรฐานในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก กยท. ได้ดำเนินการตามแผนงานส่งเสริมการทำสวนยางตามมาตรฐานฯ ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสร้างมาตรฐานสวนยางของไทย เข้าสู่ระบบการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล โดยปี 2563 จะดำเนินการนำร่องในพื้นที่กองจัดการสวนยาง 1 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ จำนวน 8,050 ไร่ และเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ตรัง, กระบี่, พัทลุง, สงขลา และสตูล คิดเป็นจำนวนพื้นที่รวม 155,000 ไร่ และวางเป้าหมายในปี 2564 ว่าต้องการขยายการสร้างมาตรฐานสวนยางให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเปิดรับสมัครเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการอีก โดยเพิ่มพื้นที่อีก 237,000 ไร่

“กยท. ได้รับมอบคู่มือฯ จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะร่วมผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย จะถูกถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพื่อยกระดับและพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราของไทยให้มั่นคงยั่งยืนขึ้น”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มุ่งสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ นโยบาย นวัตกรรม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จึงสนับสนุนโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาคู่มือและศักยภาพของผู้ทำสวนยางพารา และผู้ประกอบธุรกิจไม้ยางพาราให้ได้รับการรับรองการจัดการป่าไม้ในระดับนานาชาติ” ได้ผลงานจากการวิจัยที่สำคัญ คือ “คู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) สำหรับสวนยางพาราในประเทศไทย” นับเป็นคู่มือฉบับแรกของไทยที่เป็นผลผลิตจากการวิจัยตามหลักวิชาการและได้ผ่านการนำไปทดลองสร้างการรับรู้ให้กับผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ไม้และน้ำยางพาราในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

“ผลงานวิจัยชิ้นนี้ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางพาราในระดับสากล อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสวนยางพาราทั้งระบบ รวมทั้ง การสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้า และเพิ่มช่องทางการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก”   ผอ.สกสว. กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าโครงการวิจัย ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางพาราที่ได้รับการในการส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศจีน เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และภูมิภาคต่างๆ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขนี้แล้วในบางผลิตภัณฑ์ อีกทั้งจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าไปประเทศจีนมีอัตราลดลง ดังนั้น คณะนักวิจัยจึงได้พัฒนาคู่มือฉบับนี้ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สกสว. และขณะทำการวิจัยได้รับการสนับสนุนในการรวบรวมข้อมูลจาก กยท.เป็นอย่างดี โดยคู่มือฉบับนี้จัดเป็นคู่มือการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐาน FSC ฉบับแรกของประเทศไทยที่เป็นผลผลิตจากการวิจัยตามหลักวิชาการและได้ผ่านการนำไปทดลองสร้างการรับรู้ให้กับผู้ทำสวนยางพาราและผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้ไม้และน้ำยางพาราในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นคู่มือที่ เหมาะสม ทันสมัย และ ง่ายต่อการศึกษาด้วยตนเอง จึงถือโอกาสนี้ส่งมอบให้ทาง กยท. เพื่อนำไปเผยแพร่และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราในประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางพาราในระดับสากลอันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสวนยางพาราทั้งระบบ เช่น การมีผลผลิตที่ยั่งยืน การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร การพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าที่ใช้ผลผลิตจากสวนยางพารา รวมทั้ง การสร้างอำนาจต่อรองของประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าเรื่องราคาผลิตภัณฑ์และเพิ่มช่องทางการส่งออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก


ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.