ฝนหลวงฯ ปรับฐานปฏิบัติการ ตั้ง 12 หน่วยฯ ดูแลพื้นที่ต้องการน้ำครอบคลุม 5 ภูมิภาค

วันที่ 1 มิถุนายน 2563 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยทางพี่น้องเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกกันอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมอาจมีสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นได้ตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชน เตรียมวางแผนการใช้น้ำ เก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้การหากประสบปัญหาดังกล่าว สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปรับฐานปฏิบัติการฝนหลวงจาก 11 หน่วย เป็น 12 หน่วย ได้แก่ 1.หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ย้ายไปประจำการที่ จ.ตาก 2.หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ย้ายไปประจำการที่ จ.แพร่ 3.หน่วยฯ จ.ราชบุรี 4.หน่วยฯ จ.ลพบุรี 5.หน่วยฯ จ.ขอนแก่น 6.หน่วยฯ จ.อุดรธานี 7.หน่วยฯ จ.บุรีรัมย์ ย้ายไปประจำการที่ จ.สุรินทร์ 8.หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ย้ายไปประจำการที่ จ.นครราชสีมา 9.หน่วยฯ จ.จันทบุรี ย้ายไปประจำการที่ จ.ระยอง 10.หน่วยฯ จ.ชุมพร 11.หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี และ 12.หน่วยฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ย้ายไปประจำการที่ จ.สงขลา เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบมีความทั่วถึงมากที่สุด ทั้งนี้ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วรวม 107 วัน 2,580 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 105 วัน คิดเป็นร้อยละ 98.13 จังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 66 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 171.83 ล้านไร่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและ อ่างเก็บน้ำ รวม 157 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 32 แห่ง ขนาดกลาง 125 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 323.216 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 9 แห่ง อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับ
บึงบอระเพ็ด

สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง มีจำนวน 29 จังหวัด 167 อำเภอ 883 ตำบล 5 เทศบาล 7,583 หมู่บ้าน/ชุมชน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 32 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 221 แห่ง ด้านประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในวันนี้ อยู่ในระดับเสี่ยงฝนตกหนักบริเวณ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง ณ วันที่ 31 พ.ค.2563 พบว่ามีผู้ขอรับบริการ ฝนหลวงจากทั่วทุกภูมิภาคจำนวน 905 แห่ง (61 จังหวัด 442 อำเภอ) สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมรายสัปดาห์ของพื้นที่บริเวณภาคเหนือฝั่งตะวันตก ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ที่ยังมีปริมาณน้ำฝนสะสมในระดับ 10-25 มิลลิเมตร ซึ่งทางทางกรมฝนหลวงฯ จะนำมาวางแผนและปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำอย่างทั่วถึงต่อไป

ส่วนการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจอากาศจากสถานีเรดาร์ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในช่วงเช้านี้ จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายโดยหน่วยปฏิบัติการฯ 2 หน่วย ได้แก่

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ราชบุรี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.ราชบุรีและพื้นที่ลุ่มรับน้ำในพื้นที่ภาคกลาง

– หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ

สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อีก 10 หน่วย ยังขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน และเคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการให้เรียบร้อย หากในช่วงบ่ายมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวง จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวง และติดตามข้อมูลข่าวสารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook, Line official account, Instagram, Twitter และเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร


กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

1 มิถุนายน 2563