วราวุธ ส่งมอบระบบน้ำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 ตำบล แก้วิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก

วันที่ 30 พ.ค. 63 เวลา 9.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 ตำบล จังหวัดพิจิตรและจังหวัดพิษณุโลก ส่งมอบโครงการถังเก็บน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ รวมถึงมอบถุงปันสุขให้ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 3 ตำบล ณ ประตูระบายน้ำวัดยางคอยเกลือ และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงอินทนิล 2 บริเวณถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จังหวัดพิจิตร

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลป่ามะคาบ ตำบลท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร และตำบลไผ่ล้อม จังหวัดพิษณุโลก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประสบปัญหาสภาพแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ตื้นเขินมาก บางช่วงมีการพังทลายของตลิ่ง ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน จนเกิดความเสียหายเป็นประจำทุกๆ ปี  จึงได้ใช้หลักการโครงการแก้มลิง โครงการอ่างพวง โครงการประตูระบายน้ำ โครงการระบบเครือข่ายน้ำ มาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ รวมถึงหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก โดยการนำนวัตกรรมการสูบส่งน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้เทคโนโลยีการเก็บสำรองน้ำในถังทรงแคปซูล ความจุน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความทนทานต่อแดด ลม ฝน และทนแรงดันสูง สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ เพื่อส่งน้ำและกระจายน้ำไปยังพื้นที่แปลงเพาะปลูกให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง

การดำเนินการครั้งนี้ ใช้งบประมาณสำหรับการพัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 704.241 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 3,332 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 49,936 ไร่ โดยได้ประยุกต์นวัตกรรมการออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling โมเดลสามมิติที่สร้างงานก่อสร้างเสมือนจริง จึงสามารถวางแผนการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุนการก่อสร้างให้น้อยที่สุด พร้อมเพิ่มความสุขให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบ 3 มิติ  ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในช่วงออกแบบได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น ข้อมูล BIM ผนวกกับข้อมูลด้าน GIS นี้ยังสามารถใช้ในการบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน และยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายอื่น รวมทั้งการติดตามการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว การบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่น้ำคือชีวิต เป็นภารกิจของทุกคน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรช่วยกันบริหารจัดการน้ำภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของชุมชนและอนาคตของลูกหลานของเรา