แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สืบเนื่องจากสัปดาห์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัยพบว่าแม่ส่วนหนึ่งน้ำนมไม่เพียงพอ แนะสร้างเสริมโภชนาการ กินผักช่วยเพิ่มน้ำนม ซึ่งหัวใจสำคัญของคุณแม่หลังคลอด ควรกินอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หากกินอาหารมื้อหลักได้น้อย ควรเพิ่มมื้อว่างที่มีประโยชน์ เพื่อให้ได้พลังงานเพียงพอ เพิ่มโปรตีน ไอโอดีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม โฟเลท เพราะหญิงให้นมบุตรต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติ 500 กิโลแคลอรี แม่กินอาหารครบทุกหมู่ สุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่เครียด น้ำนมก็จะมีเพียงพอสำหรับลูกน้อย โดยเฉพาะควรเลือกอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ซึ่งมีผัก 5 ชนิดเป็นอาหารประเภทหลัก ได้แก่ 1) หัวปลีมีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัสมาก ช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี ได้แก่ แกงเลียง ยำหัวปลี ทอดมันหัวปลี ต้มข่าไก่ใส่หัวปลี หัวปลีชุบแป้งทอด ต้มหัวปลีจิ้มกับน้ำพริก 2) ขิงอุดมด้วยแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี ช่วยขับเหงื่อขับลม ไล่ความเย็น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ซึ่งแม่หลังคลอดยังมีน้ำคาวปลาอยู่ การกินขิงช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ได้แก่ มันต้มขิง ปลาผัดขิง ยำปลาทูใส่ขิง 3) ใบกระเพรา มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม ได้แก่ ผัดกระเพราหมู ไก่ ปลา ต้มจืดใบกระเพราหมูสับ 4) ฟักทอง อุดมไปด้วยวิตามินเอ ฟอสฟอรัส และเบต้าแคโรทีน ได้แก่ แกงเลียง ฟักทองนึ่ง ฟักทองผัดไข่ แกงบวดฟักทอง และ 5) กุ้ยช่าย ทั้งต้นและใบช่วยบำรุงน้ำนม ได้แก่ กินแนมกับผัดไทย กุ้ยช่ายทอด ผัดกุ้ยช่ายตับ นอกจากนี้ยังมี ใบแมงลัก ตำลึง พริกไทย กานพลู มะละกอ พุทรา ช่วยสร้างน้ำนมได้ดี
“นมแม่ ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อ การเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว นมแม่ในระยะ 1-7 วันแรก จะมียอดน้ำนมที่เรียกว่า หัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม ถือเป็นยอดอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบถ้วน อีกทั้งเป็นช่วงที่น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันสูงสุด เด็กควรได้กินหัวน้ำนมเพราะเปรียบเสมือนได้รับวัคซีนหยดแรกของชีวิต เพราะเด็กแรกเกิดจะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองได้ ทารกที่ได้กินนมแม่จึงมีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด หูอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าทารกที่กินนมแม่มี การพัฒนาความสามารถทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่กินนมแม่” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***